พอล แฮนด์ลีย์ (Paul Handley) ผู้เขียนหนังสือ The King Never Smiles กษัตริย์ผู้ไม่ทรงสรวล (New Haven: Yale University Press, 2006) ซึ่งกลายเป็นหนังสือต้องห้ามผิดกฎหมายในเมืองไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องนี้ไว้ในหนังสือว่า จะจริงหรือไม่ก็ตาม คำเล่าลือมีผลกระทบอย่างมากในการหล่อหลอมความเห็นของสาธารณะเกี่ยวกับพระราชวงศ์ (น.402) ทว่าแม้แต่แฮนด์ลีย์เองซึ่งเป็นอดีตนักข่าวนิตยสาร Far Eastern Economics Review ประจำกรุงเทพฯ ก็ยังต้องพึ่งข่าวลือและข้อมูลจากการซุบซิบนินทาเพื่อเขียนหนังสือ โดยเริ่มอ้างข้อมูลเหล่านั้นในหนังสือของเขาด้วยคำขึ้นต้นว่า the stories had it (เรื่องมีอยู่ว่า ) และนี่คือผลลัพธ์ของวัฒนธรรมถูกเซ็นเซอร์และวัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเอง
ผู้ให้การยังได้เคยสัมภาษณ์ อ.วรเจตน์ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมปีที่แล้ว (ดู.WE FACE MORE COUPS.: Worachet, The Nation, 4 December 2006) ว่าด้วยสถานการณ์หลังรัฐประหารและเริ่มร่างรัฐธรรมนูญโดยหนึ่งในคำถามคือเราจะผลักดันให้รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมือง และมีความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ถูกฉีกเป็นประจำได้อย่างไร (โดยเฉลี่ย 4 ปี 1 ฉบับ)
อ.วรเจตน์ตอบว่า All parties must contribute, starting from the highest institution in the land. His Majesty the King must play a part but its risky to make such a suggestion in Thai society. (ทุกส่วนในสังคมคงต้องช่วยกันตั้งแต่คนธรรมดาสามัญจนถึงสถาบันสูงสุด พระองค์คงต้องมีบทบาท แต่ว่ามันเป็นการเสี่ยงที่จะเสนอแนะเช่นนี้ในสังคมไทย)
ระดับและความถี่ของการสรรเสริญเยินยอกษัตริย์ผ่านสื่อต่างๆ นั้นมหาศาลนัก จนสามารถตั้งคำถามได้ว่า เป็นสิ่งเกินความพอเพียงมากน้อยเพียงใด เพราะดูเหมือนพระองค์ท่านจะกลายเป็นอัจฉริยะในทุกด้าน ยกตัวอย่างเช่นที่ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์มีสติ๊กเกอร์ขนาดยักษ์ติดหน้าตึกด้วยข้อความทั้งภาษาไทยและอังกฤษว่า 80 พรรษามหาราชันย์ของโลก และ Long Live the Great King of the World หรือเนื้อเพลงของแกรมมี่ที่มีคำร้องว่า King of Kings หรือการจัดงานสารพัดอย่างเพื่อ ถวายในหลวง ที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลปัจจุบันที่ไร้ความชอบธรรมซึ่งมาจากคณะรัฐประหารชุดนี้ก็ยิ่งโหมการจัดงานเฉลิมฉลองมากยิ่งขึ้น