|
|
#2# - 661372 |
|
|
|
|
เอามาเสริมครับ
*********************************
โดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
การใช้ทุนของแพทย์ คือการคืนทุนเพื่อรับใช้สังคม...
แม้ว่าการเรียนแพทย์นั้น จะไม่ได้รับทุนที่เป็นตัวเงินเหมือนทุนของโรงเรียนนายร้อยหรือโรงเรียนพยาบาล เพราะการเรียนแพทย์นั้น ค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า ค่าหนังสือ ค่าอาหาร สารพัดค่าใช้จ่ายทางตรงล้วนต้องจ่ายเองทั้งสิ้น
เหตุที่เรียกว่าแพทย์ใช้ทุนก็เพราะ...การเรียนแพทย์เป็นการเรียนการสอนที่ใช้ทรัพยากรของหลวงอย่างมาก ทั้งอาคารสถานที่ อาจารย์แพทย์ก็ได้เงินเดือนจากภาษีประชาชน การสั่งใช้ยา การสั่งตรวจเลือด การทำหัตถการต่างๆ ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็นในการเรียนการสอนทั้งสิ้น
ต้นทุนในการเรียนแพทย์ที่สำคัญที่สุด...ไม่ใช่เงิน แต่คือผู้ป่วยหลายร้อยหลายพันคนที่ยอมให้นักศึกษาแพทย์เย็บแผลทั้งๆ ที่มือยังสั่นอยู่ ทำคลอดลูกสุดที่รักของเขาโดยไร้ประสบการณ์ ผ่าตัดด้วยระยะเวลาการผ่าตัดยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น หรือเจาะเลือด เจาะชิ้นเนื้อ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน เพื่อการเรียนรู้ทั้งๆ ที่อาจเกินจำเป็น รวมทั้งการสั่งใช้ยาโดยที่ยังอ่อนประสบการณ์
แม้ทั้งหมดนี้จะมีอาจารย์แพทย์ช่วยดูแลร่วมด้วย แต่ผู้ป่วยที่ยอมอุทิศร่างกายมาให้แพทย์ฝึกหัด ล้วนแต่เป็นผู้ป่วยที่มีฐานะไม่ร่ำรวย ส่วนคนมีฐานะที่พักในห้องพิเศษหรือคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชน แทบจะหาไม่ได้ที่จะยอมมาเป็นครูให้นักศึกษาแพทย์เด็กๆ ได้เรียนรู้ ฝึกฝน ลองผิดลองถูกจนจบปริญญา และสิ่งนี้คือต้นทุนมูลค่ามหาศาล จนไม่อาจตีค่าเป็นเงินได้
เมื่อใช้ทรัพยากรหลวงอย่างมหาศาลในการสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา จากเด็กมัธยมกะโปโลจนได้เป็นนายแพทย์ ควรต้องกลับไปรับใช้สังคม ดูแลประชาชนด้วย
จึงมีการกำหนดกติกาให้แพทย์ต้องใช้ทุน 3 ปีหลังเรียนจบ เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา
การใช้ทุนของแพทย์ จึงเป็นหัวใจของการคืนทุนเพื่อตอบแทนผู้ป่วย ตอบแทนประชาชนและสังคม ที่ได้อนุเคราะห์ให้แพทย์ได้เรียนรู้ ใช้ทรัพยากรในการฝึกฝน จนมีวิชาชีพที่จะสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นคนมีฐานะมีเกียรติในสังคม
แม้แพทย์ส่วนใหญ่จะมีสำนึกของการใช้ทุนอยู่แล้วโดยไม่ต้องบังคับ
แต่แพทย์อีกกลุ่มใหญ่กลับไม่คิดเช่นนั้น ต้องการไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือโรงพยาบาลใหญ่ในเมือง เพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว ตามวิถีทุนนิยมและบริโภคนิยมต่อไป
การบังคับให้แพทย์ต้องใช้ทุน จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสมองไหลและขาดแคลนแพทย์ในชนบทของประเทศไทย หากไม่ใช้ทุนก็ต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 400,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมทางสาธารณสุขที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง และทำให้แพทย์กระจายไปในพื้นที่ชนบทรวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐในต่างจังหวัด ขยับดีขึ้นตามลำดับ
แต่ปัจจุบัน เงินค่าปรับ 400,000 บาท น้อย เกินกว่าที่จะหยุดยั้งแพทย์ให้ใช้ทุนนาน 3 ปีอีกต่อไปแล้ว
แพทย์เกือบ 1 ใน 3 ที่ลาออกจากราชการก่อนใช้ทุนครบ ก็เพราะค่าปรับใช้ทุนเพียง 4 แสนบาทนั้น เล็กน้อย จนแทบจะซื้อรถยนต์คันเล็กๆ สักคันยังไม่ได้
มีความเห็นพ้องต้องกันว่า...ควรขึ้นค่าปรับสำหรับแพทย์ที่ไม่ประสงค์จะใช้ทุน แต่ตัวเลขเงินค่าปรับที่จะกำหนดขึ้นมาใหม่แทนตัวเลข 400,000 บาทที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2516 ยังมีการถกเถียงกันอยู่ ว่าตัวเลขใหม่ควรเป็นเท่าใด และเอาหลักเกณฑ์อะไรมาคิด
ในขณะนี้ตัวเลขที่เป็นทางการและถูกพูดถึงมี 2 ตัวเลขคือ
1. ค่าเทอมตลอด 6 ปีของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์เอกชนแห่งเดียว โดยค่าเทอมแพทย์รังสิต 350,000 บาท/ปี รวม 6 ปี เป็นเงิน 2,100,000 บาท...เมื่อเทียบกับเงิน 400,000 บาทที่ต้องใช้ทุนเดิม ก็จะเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 5.25 เท่า
2. งบประมาณรายหัวของนักศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นรายหัวๆ ละ 300,000 บาท/ปี รวม 6 ปี เป็นเงิน 1,800,000 บาท...เมื่อเทียบกับเงิน 400,000 บาทที่ต้องใช้ทุนเดิม ก็จะเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น 4.5 เท่า
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปมองจำนวนเงิน 400,000 บาทในอดีตเมื่อ 38 ปีที่แล้ว เงินจำนวนนี้มีค่ามากมายเพียงใด ดัชนีชาวบ้านที่ง่ายที่สุดได้แก่...
-ราคาทองคำในปี 2516 บาทละ 400 บาท ปัจจุบันทองคำราคาบาทละกว่า 20,000 บาท เพิ่มขึ้น 50 เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 20 ล้านบาท
-ราคาน้ำมันดิบในปี 2516 บาร์เรลละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันราคาประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 40 เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 16 ล้านบาท
- ราคาก๋วยเตี๋ยวในปี 2516 ชามละ 3 บาท ปัจจุบันชามละ 30-40 บาท เพิ่มขึ้น 10-13เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 4-5 ล้านบาท
- และที่สำคัญ ปี 2516 เป็นปีแรกที่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนค่าเงินที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง โดยประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับแรก เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ประกาศฉบับที่ 1 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2516 ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี กำหนดค่าแรงขั้นต่ำที่ 12 บาท ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ประกาศใช้ 1 มกราคม 2554 อยู่ที่ 215 บาท เพิ่มขึ้น 18 เท่า...หากคิดในฐานคิดนี้ ค่าปรับการไม่ใช้ทุนก็ควรจะเป็น 7.2 ล้านบาทจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะนำฐานคิดใดเข้ามาอ้างอิง ตัวเลขค่าปรับการไม่ใช้ทุนต้องเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน
แต่หากนำมูลค่าตามเจตนารมณ์เดิมของการกำหนดให้แพทย์ต้องมีการใช้ทุน ก็ควรเพิ่มค่าปรับอย่างน้อย 7.2 ล้านบาท หรืออาจสูงถึง 10 ล้านบาทก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
เพราะหากแพทย์จบใหม่ที่มีอายุเฉลี่ย 24 ปี ออกไปปฏิบัติงานใช้ทุนครบ 3 ปี ก็ไม่ต้องเสียเงินค่าปรับแม้แต่บาทเดียว ซึ่งเมื่อครบใช้ทุนก็มีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น ยังมีพลังอีกมากมายในการกลับมาศึกษาต่อหรือย้ายเข้ามาทำงานใกล้ครอบครัวต่อไป
ปัจจุบัน กระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมที่รุนแรงถั่งโถมเข้าท้าทายอุดมการณ์และจิตสำนึกในการรับใช้สังคมของวิชาชีพแพทย์มากพอสมควร การลาออกของแพทย์ไปอยู่ภาคเอกชน สร้างเนื้อสร้างตัว ทอดทิ้งคนชนบทให้ขาดแคลนแพทย์นั้น...มีให้เห็นมากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุขจึงควรทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพของประชาชน ไม่ใช่เล่นบทเดียวกับองค์กรวิชาชีพที่ทำหน้าที่ปกป้องแพทย์ด้วยการพยายามยกเลิกการใช้ทุน หรือยื้อที่จะไม่ปรับเพิ่มค่าปรับการใช้ทุน หรือเพิ่มให้เพียงเล็กน้อย
กระทรวงสาธารณสุขต้องมีจุดยืนที่จะกำหนดค่าปรับในการไม่ใช้ทุนให้สูงมากพอที่จะทำให้แพทย์เกือบทุกคนยินดีไปใช้ทุน เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินกันอย่างถ้วนหน้า
ซึ่งค่าปรับที่มากกว่า 10 ล้านบาทเท่านั้นที่จะเป็นยาแรง ช่วยลดการลาออกระหว่างการชดใช้ทุนได้อย่างเห็นผล เพราะลำพังการเพิ่มค่าปรับจาก 4 แสนบาทมาเป็น 1.8 ล้านบาทหรือ 2.1 ล้านบาท ยังถือว่า ไม่สูงพอ ที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคในการใช้ทุนเพื่อรับใช้ประเทศชาติในการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยโดยเฉพาะในชนบท
ทุกวันนี้ รายได้ของแพทย์ที่ไปใช้ทุนในชนบทนั้น แม้จะไม่มากเท่ากับโรงพยาบาลเอกชน แต่ถ้ารวมกับการอยู่เวรนอกเวลาราชการด้วยแล้ว บางคนอาจมีรายได้เข้าใกล้หลักแสนบาทต่อเดือน ซึ่งไม่เอาเปรียบแพทย์ใช้ทุนจนเกินไปนัก
ที่ผ่านมา ทั่วโลกชื่นชมประเทศไทยที่ใช้มาตรการบังคับใช้ทุนของแพทย์เป็นเวลา 3 ปีหลังจบการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อยู่ห่างไกล
แต่ภาวะสมองไหลของแพทย์ หนี การใช้ทุน ที่เพิ่มสูงขึ้นจนน่าวิตก จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงสาธารณสุขต้องหาคำตอบว่า...ค่าปรับ 10 หรือ 20 ล้านบาท เพื่อแลกกับการใช้ทุนของแพทย์นาน 3 ปี โดยไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว คำตอบไหนที่สังคมไทยจะได้ประโยชน์สูงสุด ก่อนที่การขาดแคลนแพทย์ภาครัฐจะวิกฤตมากกว่านี้
จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1308289953&grpid&catid=02&subcatid=0200
ยังไงก็เลือกทางเดินกันดีๆนะครับ อย่าคิดแต่ว่า ซิ่วได้ แบบนั้น มันดูเห็นแก่ตัวเกินไปนิดนึงครับ ^^ |
|
|
18 มิ.ย. 54 / 13:31 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
followup id 661372
|
115.87.224.168
|
|
|
|