[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" ว่าด้วย ‘การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงประจักษ์’ (1) "
ว่าด้วย ‘การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงประจักษ์’ (1)

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

แม้พระอาทิตย์และพระจันทร์ ได้เวียนขึ้นเวียนลง ข้ามศีรษะของพวกเราไปแล้วถึง 3 ครั้ง อย่างเสมอหน้า ทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กับฉายารัฐบาล “ปูอบวุ้นเว้น” ของสมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ก็คงยังไม่ถือว่าเป็นการสายจนเกินไป ที่คนซึ่งเพิ่งได้มีโอกาสพบปะกัน ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ จะกล่าวคำว่า “สวัสดีปีใหม่”

เทศกาลอำลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่งวดนี้ ได้หยุดกันแค่ 4 วัน สำหรับพี่น้องภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมถึงภาคใต้ อาจรู้สึกว่า มีเวลานอนตีพุง น้อยไปสักนิด พักผ่อนกันยังไม่ทันหายเหนื่อยดี

แต่สำหรับพี่น้องภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมด้วยแล้ว เรียกว่าหยุดตุนกันมาจนเซ็ง ได้กลับเข้ามาทำงาน ให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่รับไปเสียบ้าง ก็จะได้รู้สึกสบายใจขึ้น เดี๋ยวคนอื่นเขาจะหาว่า เป็นพวกเอาเปรียบสังคม

สำหรับปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญแด่ทุกท่าน ที่อุตส่าห์เจียดเวลาอันมีค่า ชำเลืองสายตาติดตามข้อเขียน เข้านี่ก็ปีที่ 3 ให้แล้ว กระผมจึงขอนำเสนอ ข้อเขียนชุดใหม่ “การวิเคราะห์วาทกรรมเชิงประจักษ์” (Empirical Discourse Analysis - EDA)

เพิ่มเติมจาก “ฤดูวิชาการ” ซึ่งเน้นพูดเกี่ยวกับการประชุมวิชาการ ทั้งในแง่ของการประชาสัมพันธ์ งานที่น่าสนใจและกำลังจะจัดขึ้น หรือความก้าวหน้า ตลอดจนข้อบกพร่องต่างๆ ของงานที่มีโอกาสได้ไปร่วมมา

เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึง “วาทกรรม” ที่ครอบงำสังคมของเรา ด้วยเทคนิควิธีใน “เชิงปริมาณ” และสรุปผลการวิเคราะห์ให้เห็นกันชัดๆ ใน “เชิงประจักษ์” คิดกันออกมาเป็นตัวเลข ไม่ต้องตีความ หรือถกเถียงอะไรกันให้ยุ่งยาก

เริ่มจาก โดยรูปศัพท์ ต้องยอมรับว่า ผู้ที่อยู่ในแวดวง สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ อาจได้เปรียบผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ (นอกจากวิทยาศาสตร์สุขภาพ) อยู่สักหน่อย

ในฐานะที่ค่อนข้างมีแนวโน้ม ผ่านหูผ่านตามาบ้าง กับคำสำคัญที่เรากำลังจะกล่าวถึง คือ “วาทกรรม” จะด้วยปรากฎอยู่ในตำรับตำรา ที่ถูกบังคับให้อ่านสำหรับสอบ หรือลอยละลิ่วมาตามลม เผอิญให้กระดูกหูเกิดสั่นสะเทือน ก็ช่าง

ข้อเท็จจริงอันแน่ชัด และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มานานกว่า 2 ทศวรรษ ก็คือ ดร.สมเกียรติ วันทะนะ รองศาสตราจารย์ประจำ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ผู้ทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์นิพนธ์กรุงศรีอยุธยา แต่หันมาเอาจริงเอาจังกับการศึกษาเรื่อง อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคม (หลัง) สมัยใหม่ และประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองตะวันตก

เป็นนักวิชาการชาวไทยคนแรก ที่บัญญัติคำว่า “วาทกรรม” ขึ้นใช้ โดยแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Discourse” ตามแนวความคิดของ ศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์ระบบความคิด ชาวฝรั่งเศส ชื่อ มิเชล ฟูโกต์ (พ.ศ.2469-2527)

ซึ่งก็นับเป็นเรื่องที่ ชาวรัฐศาสตร์ฯ เกษตร ควรภาคภูมิใจในความสามารถ รวมถึงใช้โอกาสที่มี ตักตวงเอาประสบการณ์ และวิธีคิด จากอาจารย์อาวุโสท่านนี้ ให้ได้มากที่สุด ก่อนจะถึงคิวเกษียณอายุราชการ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เพราะแม้การบัญญัติคำใหม่ในภาษาไทย ด้วยการแปลจากคำภาษาต่างประเทศ จะเจ๊ก จะแขก จะเขมร หรือจะฝรั่งชาติไหนก็ตาม จะมิใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางภาษา เพื่อให้ครอบคลุมความหมายเดิมมากที่สุด

ความยากของการแปลคำว่า “Discourse” ก็คือ เป็นคำที่ถูกใช้ในความหมาย ที่ไม่ตรงกับความรับรู้อันเป็นการทั่วไปของสังคม หรือระบุในไว้อย่างตรงไปตรงมาในดิกชันนารี

ซ้ำร้าย นักคิดผู้ให้ความหมายที่ไม่ตรงกับชาวบ้านชาวช่องเอง ก็ไม่เคยเขียนไว้ชัดๆ สักที่ ว่าความหมายที่ตั้งใจจะหมายถึงนั้น มันคืออะไรกันแน่ อ้อมไปอ้อมมา ขี่ม้าเลียบข่ายอยู่จนกระทั่งตาย เท่าที่พูดกันทุกวันนี้ จึงเข้าข่าย เดาเอาทั้งนั้น

ดร.สมเกียรติ ท่านก็ช่างคิดเหลือเกิน นอกจากจะตั้งให้คำภาษาไทย ตรงกับคำภาษาอังกฤษได้แล้ว ยังรักษาความสลับซับซ้อน ด้วยการทำให้มันมีนัย สามารถขยายความหมายออกไปได้อีก เช่นเดียวกับที่ ฟูโกต์ กระทำ

นี่ยังไม่นับรวมเงื่อนไขที่สำคัญและยากที่สุด คือ “โชคชะตา” ที่จะทำให้คำที่คิดตั้งขึ้นนั้น “ติด” ถูกนำไปอ้างอิง และใช้กันชนิดที่เป็นเรื่องปกติอย่างกว้างขวาง

ด้วยเหตุที่ ฟูโกต์ ชิงหยุดหายใจเสียก่อนที่กระผมจะเกิด ดร.สมเกียรติ ก็เริ่มใช้คำนี้ ตั้งแต่กระผมยังจำความไม่ได้ ความรับรู้เกี่ยวกับศัพท์เทคนิคประหลาดๆ ผลงานของทั้ง 2 ท่าน ของกระผม แรกเริ่มเดิมทีจึงมาจาก

หนังสือภาษาไทย ชื่อ “วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และวามเป็นอื่น” ผลงานชิ้นสำคัญของ ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร รองศาสตราจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งกล่าวถึง “วาทกรรม” ในฐานะที่เป็น ระบบและกระบวนการในการสร้าง/ผลิต เอกลักษณ์และความหมาย ให้กับสรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่

ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง รวมถึง ตรึงสิ่งที่เราสร้างขึ้นให้ดำรงอยู่ และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง จนกลายสภาพเป็น “วาทกรรมหลัก”

ด้วยการใช้ “อำนาจ” ที่ผ่านการขัดเกลา/ซักฟอกจนขาวสะอาด ในรูปของ “ความรู้/ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” อาทิ วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ผ่านกฎเกณฑ์และจารีตปฏิบัติ ของบรรดา “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งหลาย

ในรูปของ “วาทกรรมวิชาการ” ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ในฐานะป้ายหรือฉลาก ที่ติดให้กับ สถานการณ์ที่สลับซับซ้อน ของการต่อสู้ช่วงชิงเชิงยุทธศาสตร์ในสังคม

เพื่อยัดเยียด/ทำให้ทรรศนะหนึ่งๆ ที่มิใช่สัจธรรม กลายสภาพเป็น “ความรู้” และ “ความจริง” ขึ้นมา

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ.2554 หน้า 6
03 ม.ค. 55 / 07:08
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 3925 : discuss 1 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 27.130.186.15

#1# - 670622 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] ขอบคุณครับ
09 ม.ค. 55 / 09:31
0 0
บอริส [icon smile : 92 bytes] (2039) : n/a : n/a : n/a
followup id 670622 119.46.184.2 <= 10.22.165.26


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]