[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" เจาะใจ “ดร.ไชยันต์” เสนอยกเลิก ม.112 กับเหตุผลที่มากกว่า “ความจงรักภักดี” "
หนึ่งในประเด็นร้อนส่งท้ายปีเก่า ส่อสุมไฟให้ปีใหม่ 2555 ได้มีการปะทะทางความคิดอย่างจริงจัง คือการแก้ไขหรือไม่แก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยล่าสุด “15อาจารย์” ได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112" อันเป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 15 ท่าน ต่างมีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น “เสื้อแดงสุดขั้ว” หรือ “เสื้อเหลืองสุดขีด” ต่างเห็นร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ดังกล่าว





“มติชนออนไลน์” สัมภาษณ์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร ภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ในอาจารย์ผู้ไม่ใช่เสื้อแดงและไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้น่าเคลือบแคลงสงสัยในความจงรักภักดี เปิดเผยมุมมองที่น่าสนใจเพราะไม่บ่อยนัก ที่จะได้รับฟังความเห็นของผู้ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุชุดที่เหนือกว่า “อารมณ์ความรู้สึก” โดยมีประเด็นสำคัญ เรื่องต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมที่สังคมไทยสอดคล้องกับระบอบนี้ รวมถึงความจำเป็นในการถกเถียงเพื่อหาบทสรุปจัดวางบทบาทสถาบันและความจำเป็นใน “การเล่นไพ่หลายหน้า” เพื่อถ่วงดุลทางการเมือง





ท่าที ผบ.ทบ. ระบุว่าไม่ควรพูดเรื่องแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 และใครไม่เห็นด้วยก็ควรออกนอกประเทศ





ผบ.ทบ. น่าจะเปิดกว้างรับฟังเหตุผลของคนที่ต้องการให้แก้ ม.112 ถ้าไม่รับฟังแล้วให้ไปอยู่ประเทศอื่น ก็จะเป็นผลเสียต่อ ผบ.ทบ.ในฐานะผู้นำกองทัพ แต่ท่านอาจจะพูดในฐานะประชาชนคนหนึ่งเพราะกองทัพทั้งหมดอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น





อาจเป็นเพราะความเชื่อว่า ถ้าใครจงรักภักดี ก็ต้องไม่คิดแก้มาตรานี้หรือเปล่า





ผมถึงบอกว่า เราต้องฟังเหตุผลของคนที่อยากให้แก้กฎหมายมาตรานี้ ว่าเหตุผลคืออะไร แล้วถ้าไม่เห็นด้วย และมีเหตุผลที่ดีก็ต้องโต้แย้ง ส่วนผมในฐานะ 1 ใน 15 คนที่ลงชื่อ ก็อยากให้มีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองในการดำเนินการมาตรานี้ ไม่อยากให้ใครไปจ้างความกล่าวหาใครก็ได้





ตอนลงชื่อแถลงการณ์ อาจารย์คิดว่าตัวเองเป็นคนเสื้อสีอะไรหรือไม่





คือคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นสีไหน ทั้ง 15 คน ต่างคนก็มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างกัน แต่ว่าเราเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้ ก็ยิ่งดี แสดงให้เห็นว่านักวิชาการที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างก็สามารถสนับสนุนเรื่องนี้ได้ ซึ่งสังคมน่าจะลองคิดดูว่าทำไมนักวิชาการที่คิดแตกต่างเคยขัดแย้งกันสามารถเห็นพ้องต้องกัน อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ อาจารย์พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ก็ยิ่งต่างกันใหญ่ อีกฝ่ายเสื้อแดง อีกฝ่ายเสื้อเหลือง





อาจารย์หวังว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเอาด้วยไหม เพราะอย่างน้อย รองนายกฯ ก็บอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้





คือตอนนี้ เน้นเรื่องสบัญญัติ วิธีพิจารณาความอาญามากกว่าไปแก้สารบัญญัติ เพราะว่ากระบวนการฟ้องร้องกล่าวหากล่าวโทษ ไม่น่าจะให้คนทั่วไปทำได้ แต่เนื้อหาข้อความ ก็อาจจะไม่ต้องแตะต้อง เพียงแต่ไปเพิ่มหรือแก้ไข วิธีพิจารณาความอาญา ขณะที่ “นิติราษฎร์” เขาพูดชัดว่าจะแก้ ม. 112 แต่แถลงการณ์อาจารย์ 15 คน ก็ทราบว่าการแก้สารบัญญัติเป็นเรื่องใหญ่ จึงเห็นว่าเบื้องต้น ต้องป้องกัน ไม่ให้ใครใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้กันเปรอะไปหมด





จุดยืนส่วนตัวของอาจารย์คืออะไร





จุดยืนส่วนตัวของผมในขณะที่มีคนบอกว่าให้แก้ไข แต่ผมเห็นว่าควรยกเลิก มาตรา 112 แต่ต้องประชาพิจารณ์ ที่ผมคิดแบบนี้ เพราะเรามีมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วที่คุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ แล้วจำเป็นต้องประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนถกเถียงพูดคุยกันว่า ตกลงแล้วสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการปกครองที่เรามีอยู่จะเป็นอย่างไร แล้วเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์จะมีแค่ไหน และการวิพากษ์วิจารณ์กับการหมิ่นประมาทต่างกันอย่างไร แล้วคนในสังคมจะวางระเบียบให้ตัวเอง ซึ่งถ้าแก้ไขกันเงียบๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร





นอกจากนั้น ยังมีประเด็นว่า กฎหมายนี้คุ้มครองใครบ้าง คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะรวมใครบ้าง หรือแยกออก เพราะในกรณีพระบรมวงศานุวงศ์ ทำสิ่งซึ่งกระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ เราจะทำอย่างไร จะวิพากษ์วิจารณ์ได้ไหม ถ้าคนที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ แต่เป็นคนใกล้ชิดสถาบันพระมหากษัตริย์ แทรกแซงกิจการราชการ หรือมีพฤติกรรมที่ไปเกี่ยวข้องกับระบบราชการแล้วทำให้เกิดความเสียหาย แล้วคนเหล่านี้จริงๆ ต้องถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนะ ทำให้คนเป็นห่วงสถาบัน ห่วงองค์พระมหากษัตริย์





ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดการปรับตัว ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชน ในแนวที่ไม่ใช่เป็นแนวดิ่งถึงขนาดต้องรอการเชื่อฟัง แต่ถ้าแนวความสัมพันธ์บนลงล่างที่เอนลง ลดความชันลงมาหน่อย ไม่ถึงขนาดเสมอภาคหรอก แต่พอสื่อสารกันได้ ไม่ได้อยู่ในระนาบสูงเกินไป ก็จะทำให้เกิดความมั่นคง ความปรับตัวขึ้น เพราะมักมีข่าวลือ ที่ทำให้เราไม่สบายใจเกี่ยวข้องกับอนาคตสถาบันด้วย ถ้าเราต้องการให้สถาบันมีความเข้มแข็ง ก็ต้องทำให้คนรอบข้างสถาบันไม่ทำอะไรที่กระทบกระเทือนการปกครองระบอบนี้





คนที่ไม่อยากให้แก้ไข ม. 112 ก็มองว่าในเมื่อใครไม่ได้ทำผิด ก็ไม่เห็นต้องเดือดร้อนมาตรานี้ ขณะที่หลายคดีก็ยังเป็นที่สงสัยว่าเข้าข่ายความผิดจริงหรือไม่





เราแยกแยะชัดเจนได้หรือยัง ระหว่างวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน กับการหมิ่นประมาทดูแคลนอาฆาตมาดร้าย ถ้ามาหมิ่นประมาทด่าสาดเสียเทเสีย แน่นอนก็น่าจะผิดและต้องแจ้งความฟ้องร้อง





จะพิสูจน์ความจงรักภักดีอย่างไร ขณะที่ตัวเองเสนอให้แก้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นวิธีสบัญญัติหรือสารบัญญัติเกี่ยวกับมาตรานี้





คำว่าจงรักภักดีหมายความว่าต้องไม่วิพากษ์วิจารณ์อะไรเลยเหรอ ได้ยินข่าวลือที่ไม่ดีก็ทำอะไรไม่ได้เลยหรือ ต้องให้ประชาชนจำนน ยอมรับสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า





ในทางรัฐศาสตร์ ถ้าจะจงรักภักดีก็ต้องมีเหตุผลและความชอบธรรม ไม่ใช่มืดบอดหลับหูหลับตาจงรักภักดีหรือด้วยความเกรงกลัวอย่างไพร่ทาสกลัวนาย





คนที่บอกว่ารักสถาบัน เขาไม่ไว้ใจคนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรานี้ โดยมีสมมติฐานสำคัญว่า คนเหล่านั้นไม่จงรักภักดี





คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เอาเจ้า แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง เขามีอยู่จริง ทีนี้ ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้เขาอธิบายเหตุผลของเขา เขาไปพูดใต้ดินในช่องทางอินเตอร์เนต มันก็จะผสมกับเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างหมิ่นประมาทไปใหญ่ แต่ถ้าเราเปิดกว้างให้เขาได้พูดด้วยเหตุผลว่า เขาไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะอะไร





ผมต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ต่อไปด้วยเหตุผลทางรัฐศาสตร์ ผมไม่ได้ตอบด้วยแค่คำว่าจงรักภักดี แต่ผมตอบด้วยหลักทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย ฉะนั้น ผมพูดเพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ ผมพูดได้อย่างไม่มีอุปสรรค แต่คู่ต่อสู้ทางความคิดของผมสิ (คนที่คิดแตกต่าง) เขาพูดไม่ได้ ผมอยากให้เปิดโอกาสให้เขากับผม มาโต้เถียงกันอย่างเสรี ผมก็มั่นใจในเหตุผลของผมที่จะโต้กับเขา แต่ถ้ายิ่งมีกฎหมายไปห้าม มีเงื่อนไขทางสังคมที่ไปปิดกั้นเขาออกไป มันก็ยิ่งไปยืนยันว่าสิ่งที่เขาต้องการให้เปลี่ยน มันสมควรต้องเปลี่ยน มันยืนยันสิ่งที่เขาตำหนิว่าเราไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วก็เราเป็นระบอบราชาธิปไตยที่กดขี่เป็นเผด็จการ แต่ถ้าเขาหมิ่นประมาทเรื่องส่วนตัวที่ทำให้สาธารณะเสียหาย คนอื่นก็ควรพูดได้ตั้งคำถามได้ แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับสาธารณะก็เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับความเป็นสถาบัน





ถ้าจะชกกันก็ชกกันอย่างแฟร์ๆ การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง รับได้ในเงื่อนไขเดียวคือต้องการให้ระบอบการปกครองนั้นเป็นระบอบที่ดีต่อประชาชน แก้ปัญหาและตอบสนองประชาชนได้ ฉะนั้น คนที่มองว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญทำงานได้ไม่ดี ก็ต้องแจกแจงมาสิ ว่าเป็นยังไง ไม่ใช่คิดแต่เรื่องความเสมอภาค เพราะสิ่งที่เหนือกว่าความเสมอภาคเสรีภาพก็คือชีวิตที่ดี ถ้ามีความเสมอภาคกันแล้วแต่ชีวิตไม่ดี ก็ไม่รู้จะมีไปทำไม





บทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน





สถาบันกษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนา ก็คงมีปัญหาเยอะมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อยประเทศในแถบสแกนดิเนเวียน ก็คงไม่มีปัญหาต้องให้กษัตริย์ต้องลงมาดูแลโครงการพัฒนาชนบทหรอกมันไม่เหมือนกัน ส่วนกษัตริย์ในประเทศด้อยพัฒนา ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็คงถูกด่าเหมือนกันว่านั่งกินนอนกินไปเฉยๆ ถ้าทำก็หาว่าไปแทรกแซง หาว่าสร้างอิทธิพลสร้างอำนาจบารมีขึ้นมา คือถูกด่าทั้งขึ้นทั้งร่องถ้าคนจะหาเรื่องด่า





อย่างกรณีของหนังสือ Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand, edited by Soren Ivarsson and Lotte Isager, (2010) บางตอนของบทนำของหนังสือเล่มนี้ได้เขียนไว้ว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลย (unthinkable) ที่กษัตริย์ของเดนมาร์กจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงการพัฒนาชนบท (rural development) เหมือนอย่างที่กษัตริย์ไทยทำ เพราะเขามองว่า กษัตริย์ ไม่ควรทำอะไรเลย เขาก็อ้างของเขาว่ากษัตริย์เดนมาร์คไม่ทำอะไรแบบนี้ ซึ่งผมก็ต้องถามต่อว่า เดนมาร์ค ไม่เคยด้อยพัฒนา เขาเป็นประเทศนำความเป็นสมัยใหม่ตลอดเวลา ถามว่าถ้ากษัตริย์ไทยไม่เคยทำอะไรเลยตั้งแต่ปี 2500 ก็คงถูกว่าเหมือนกัน ถูกด่าหนักด้วยว่าคนก็ยากจน คอมมิวนิสต์ก็คงบอกว่ากษัตริย์ไม่ทำอะไรแล้วมีไว้ทำไม ซึ่งตอนนั้นท่านทำอะไรก็ไม่มีใครว่า แต่พอมาตอนนี้กลับมาวิพากษ์วิจารณ์ย้อนหลังว่าสิ่งที่พระองค์ทำไปนั้นไม่ถูกต้องเพราะทำให้เกิดอำนาจบารมีขึ้นมา กลายเป็นว่าทำก็แย่ไม่ทำก็แย่





การถกเถียง จะทำให้คนไทย ไม่กลัวสถาบันหรือเปล่า





คนที่ทำให้คนอื่นกลัวสถาบัน คงเป็นข้าราชการบางกลุ่ม และกลุ่มคนที่จงรักภักดีไม่ลืมหูลืมตา ผมว่าความกลัวเกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบัน แต่มีคนที่ไปแจ้งความ ทั้งที่สถาบันไม่เกี่ยวอะไรด้วยเลยทำให้เกิดความน่ากลัว ถ้าจะกลัวคือกลัวที่จะเอาสถาบันมาอ้างอิงในการเล่นงานคนอื่นมากกว่า





ผมเห็นว่าควรมีประชาพิจารณ์หากจะยกเลิกกฎหมาย 112 เพราะต้องให้โอกาสคนที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ เช่น ตั้งคำถามกับสำนักงานทรัพย์สิน หรือตั้งคำถามกับข่าวลือบางอย่าง





ในฐานะที่ผมยืนยันว่าต้องมีสถาบัน ผมจะไปอธิบายปกป้องสถาบัน ในเรื่องเหล่านี้ผมก็พูดไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงคนที่มีสิทธิพูดก็คงพูดได้ ถ้ามันเป็นข่าวลือก็ต้องพูดออกมาตรงๆ แล้วมีหน่วยงานที่จะตอบว่าเป็นข่าวลือ





เหตุผลทางรัฐศาสตร์ที่อาจารย์เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องดำรงอยู่ คืออะไร





ถ้าเราไม่เอาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็จะไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีกษัตริย์ ซึ่งมีให้เลือก 1)แบบสหรัฐอเมริกา 2)กึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา หรือเปลี่ยนประมุขของรัฐจากกษัตริย์เป็นประธานาธิบดี ถ้าเลือกตั้งทางอ้อม ตัวสภาซึ่งกำหนดตัวนายกฯ และประธานาธิบดี จะทำให้เสียงข้างมากในสภาเลือกนายกฯ และประธานาธิบดีไม่ต่างกัน แล้วจะถ่วงดุลกันยังไง แต่ถ้าเลือกตั้งทางตรง แล้วคุณคิดว่าเสียงข้างมากที่เลือกพรรคหนึ่งเข้าสภาแล้วจะเลือกคนที่ไม่ใช่พรรคนั้นได้หรือเปล่า ก็เป็นเรื่องยากเพราะฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน เป็นปัญหาการถ่วงดุล ต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะในการลงคะแนนเสียง





ถ้าเราเปลี่ยนการปกครองแบบไม่มีกษัตริย์อาจจะต้องใช้เวลาอีกนานมาก กว่าจะลงตัวในการเลือกตั้งทางตรงหรืออ้อม เพราะตั้งแต่ 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร





ต่อให้ต้องใช้เวลานาน แล้วปัญหาคืออะไร กลุ่มอีลีทเปลี่ยนกลุ่มหรือเปล่า





กลุ่มอีลีทเก่าอาจจะหมดไป แล้วกลุ่มอีลีทใหม่ครอบงำทั้งหมดเลย ซึ่งประธานาธิบดีต้องเป็นที่เกรงใจและสามารถคัดค้านนายกรัฐมนตรีในบางกรณีได้ด้วย อย่างประสบการณ์ของประเทศสิงคโปร์ สมัยลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย ประธานาธิบดี เรียก ลีกวนยูว่า “บอส” แล้วประธานาธิบดีไม่มีความหมาย แต่พอลีกวนยูจะเลิกเล่นการเมือง ก็แก้รัฐธรรมนูญ อยากให้ประธานาธิบดีเข้มแข็ง เพราะเขาไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่จะดีเท่าเขาหรือเปล่า เพราะเขาเพิ่งรู้ เขาไม่อยากให้นายกฯและประธานาธิบดีเกี้ยเซี้ยอย่างที่ผ่านมา





แล้วเรา “จำเป็น” ต้องเปลี่ยนระบอบด้วยหรือ? อย่างที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ พูด ในเมื่อเรามีต้นทุนอยู่แล้ว ประมุขที่สืบสายโลหิต ย่อมไม่จำเป็นต้องพึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้ง แล้วเขาสามารถที่จะเป็นกลาง สามารถเล่นไพ่ได้หลายหน้า เขาไม่จำเป็นต้องเข้าข้างพรรคใดพรรคหนึ่ง ก็สามารถถ่วงดุลรัฐบาลได้แน่นอน





ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ที่สำเร็จก็เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐานชีวิตดีที่สุดในโลก คือแถบสแกนดิเนเวีย เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูงสุดมากกว่าสหรัฐและอังกฤษ เพราะอังกฤษอาจจะไม่ได้ดูแลชีวิตผู้คนได้ดีเท่ากับยุโรปเหนือ ส่วนประเทศที่ล้มเหลวในการปกครองระบอบนี้ ล่าสุดก็คือเนปาล





ประเทศไทยมีตำแหน่งแห่งที่ในการประสบความสำเร็จอยู่ตรงไหน เราคงเทียบกับสแกนดิเนเวียไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้แย่ขนาดเนปาล





ถ้ามีคนบอกว่า ต่อให้ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ก็ยอมเสียเวลา แล้วอาจารย์คิดว่าการใช้เวลาเป็นปัญหาหรือเปล่า





คือถ้ามันเป็นกิจกรรมอื่น ก็น่าลองผิดลองถูก แต่เรื่องนี้มันชีวิตคนทั้งประเทศ ต้องไปลองด้วยหรือ เอาแค่คุณทักษิณทดลองให้คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาเรียนรู้งาน ผมว่ามันก็แย่เต็มทีแล้วนะ การทดลองแบบนี้อันตรายขนาดไหน แล้วประชาชนจำนวนหนึ่งก็ยังอุตส่าห์ยอมให้ทดลองอีก มันไม่ได้ ชีวิตคนเกิดมาช่วงชีวิตหนึ่งไม่ใช่ให้คุณมาทดลองทางการเมือง กรณีคุณยิ่งลักษณ์ แค่จะต่อรองทางการเมือง เขาก็ไม่มีประสบการณ์ หรือแม้เขาเรียนรู้การต่อรองได้ แต่การตัดสินใจสุดท้าย ไม่ได้อยู่ที่เขา อันนี้ก็แย่ คุณไม่แคร์ว่าประชาชนจะเป็นยังไง คุณไม่แคร์ว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นยังไงเลยนะ คุณเอามาเสี่ยงเพื่อสนองความต้องการอะไรบางอย่างของคุณ

05 ม.ค. 55 / 01:05
0 0
imhibit [icon smile : 92 bytes] (7509) : n/a : n/a : n/a
view 5994 : discuss 2 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 58.9.99.62

#1# - 670552 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] อีกซักสิบปี เอามาดิสคัสใหม่ ผลที่ได้อาจแตกต่างมากมาย.. อิอิ
05 ม.ค. 55 / 18:19
0 0
กึ้น@SK131 TheZonker [icon smile : 92 bytes] (1639) : n/a : n/a : n/a
followup id 670552 61.47.30.22 <= 192.168.114.240

#2# - 670572 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] แต่คนที่ติดคุกไปแล้ว รอ 10 ปีไม่ได้หรอกครับ
06 ม.ค. 55 / 07:56
0 0
kak [icon smile : 92 bytes] (719) : n/a : n/a : n/a
followup id 670572 210.94.41.89


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]