[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" ความพร้อมของธนาคารแห่งประเทศไทยในการชำระคืนเงินต้นของหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ (2) "
ความพร้อมของธนาคารแห่งประเทศไทยในการชำระคืนเงินต้นของหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ (2)

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

ได้รับการประสานจาก สิงห์หนองจอก ว่า ดร.ชยงการ ภมรมาศ หัวหน้าสาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพิ่งเขียนบทความเรื่องล่าสุดเสร็จสิ้นลง พิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่า จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อวาน สิงห์หนองจอกจึงนำร่อง ยกพื้นที่ลงเนื้อความครึ่งแรกไปก่อน วันนี้ กระผมเลยขอถือวิสาสะ แทรกซ้ำซ้อน ลงส่วนที่สอง โดยเหลือส่วนสุดท้าย ให้ สิงห์นองจอก ต่อในวันจันทร์หน้า ก่อนจะแยกย้าย ต่างคนต่างกลับไปว่ากันเรื่องที่ติดค้างเอาไว้ ดังนี้ครับ

ใน พ.ศ.2553 ธนบัตรที่ออกใช้มีมูลค่า 1,104,485 ล้านบาท ขณะที่ทุนสำรองเงินตรา มีทองคำมูลค่า 118,747 ล้านบาท เงินตราต่างประเทศมูลค่า 193,291 ล้านบาท และหลักทรัพย์ต่างประเทศมูลค่า 1,675,427 ล้านบาท ในทุนสำรองเงินตรานั้น นอกจากทองคำ เงินตรา และหลักทรัพย์ต่างประเทศแล้ว ยังมีสินทรัพย์อื่นๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล อีกจำนวนหนึ่ง ธนบัตรที่ออกใช้เปรียบเสมือนหนี้สินของทุนสำรองเงินตรา สินทรัพย์ของทุนสำรองเงินตรา ในส่วนที่เกินจากหนี้สินหรือธนบัตรที่ออกใช้นั้นจะอยู่ในบัญชีสำรองพิเศษ ซึ่งสามารถเปรียบได้กับกำไรสะสมในบัญชีทั่วไปนั่นเอง เนื่องจากสินทรัพย์ของทุนสำรองเงินตราส่วนใหญ่ จะอยู่ในรูปของหลักทรัพย์ต่างประเทศ ในแต่ละปีก็จะมีดอกผลที่เกิดขึ้น ดอกผลเหล่านี้จะรวมอยู่ในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งเมื่อครบปีหลังจากหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ “ธนบัตร” และการตีราคาทรัพย์สินในทุนสำรองเงินตรา แล้วก็จะโอนเข้าไปไว้ในบัญชีสำรองพิเศษ แล้วเริ่มต้นใหม่ในปีต่อไป ใน พ.ศ.2553 นั้นบัญชีสำรองพิเศษมีมูลค่าเกือบเก้าแสนล้านบาท ต่อมาได้มีการจัดตั้งบัญชีสะสม เพื่อชำระคืนเงินต้นของหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯโดยกำหนดให้สามารถโอนเงินคงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปี มายังบัญชีสะสมได้

หากพิจารณารายได้จากบัญชีผลประโยชน์ประจำปีแล้ว จะพบว่ามีรายได้ไม่คงที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกหลายประการเช่น อัตราแลกเปลี่ยน และผลตอบแทนของหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยในช่วงพ.ศ.2549 ถึง พ.ศ.2550 ผลประโยชน์ประจำปีของทุนสำรองเงินตรามี มูลค่าถึงเกือบสี่หมื่นล้านบาท ในขณะที่ลดลงต่ำกว่าหมื่นล้านใน พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ.2553 และคาดว่าผลประโยชน์ประจำปีของทุนสำรองเงินตราใน พ.ศ.2554 จะมีมูลค่าประมาณหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท ถ้าต้องการนำผลประโยชน์ประจำปีของทุนสำรองเงินตรา ไปใช้ชำระเงินต้นของหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ นั้นคงต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ หรืออาจจะถึงศตววรรษก็เป็นได้

กล่าวโดยสรุป คือหากพิจารณาถึงขีดความสามารถของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการชำระคืนเงินต้นของหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีมากกว่าหนึ่งล้านล้านบาท โดยพิจารณาจากข้อมูลในอดีตนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือหากจะเป็นไปได้ ก็ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก อย่างต่ำหลายทศวรรษ ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ คงเป็นที่ประจักษ์แก่นักเศรษฐศาสตร์ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังเห็นได้จากแนวคิดที่จะให้มีการหาประโยชน์จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่า มีมากเพียงพอที่จะกันบางส่วนมาแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ดูแลอยู่ สามารถแบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนแรก คือทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ในงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย และส่วนที่สอง คือทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ในทุนสำรองเงินตรา

ทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนแรก ที่ปรากฎในงบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทย จะอยู่ในรูปของเงินฝากต่างประเทศ และหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินทรัพย์หลักของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยใน พ.ศ.2553 ธนาคารแห่งประเทศไทย มีสินทรัพย์ประมาณ 3,769,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นเงินฝากต่างประเทศประมาณ 525,000 ล้านบาท และเป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศประมาณ 2,725,000 ล้านบาท (รายละเอียดในตารางที่ 3) เงินฝากต่างประเทศและหลักทรัพย์ต่างประเทศ มีสัดส่วนในสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงเกือบร้อยละ 90 ธนาคารแห่งประเทศไทย มีทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนนี้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท เพื่อเหตุใด

ตารางที่ 3: สินทรัพย์และหนี้สินที่สำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ.2549 ถึง พ.ศ.2553 (หน่วย: ล้านบาท)
2549 2550 2551 2552 2553
เงินฝากต่างประเทศ 399,262 449,617 638,165 523,051 525,234
หลักทรัพย์ต่างประเทศ 649,549 890,853 1,406,878 2,101,733 2,724,717
พันธบัตรธปท. 886,769 1,369,619 1,956,484 2,531,360 3,140,007
หลักทรัพย์ขายโดยมีสัญญาซื้อคืน 550,117 494,571 332,292 380,100 337,900
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย มีหน้าที่หลักในการ ดำเนินนโยบายการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น หากมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามามาก อันอาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเกินไป ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีภาระที่จะต้องเข้าไปแทรกแซง โดยการขายเงินบาทและรับซื้อดอลลาร์ และเพื่อเป็นการดูดซับสภาพคล่องในตลาด ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาจออกตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นในด้านหนี้สินของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อพิจารณาหนี้สินของธนาคารแห่งประเทศไทย จะพบว่า หนี้สินหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และหลักทรัพย์ที่ขายโดยมีสัญญาซื้อคืน ใน พ.ศ.2553 พันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านบาท และหลักทรัพย์ที่ขายโดยมีสัญญาซื้อคืน มีมูลค่าประมาณ 340,000 ล้านบาท ผลรวมของพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และหลักทรัพย์ที่ขายโดยมีสัญญาซื้อคืน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของหนี้สินทั้งหมดของธนาคารแห่งประเทศไทย การมีทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ ในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศ การกันทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนนี้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ไปลงทุนหรือไปใช้หนี้เงินต้นกองทุนฟื้นฟูฯ ย่อมส่งผลกระทบกับการดำเนินนโยบายการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย มีทุนสำรองระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าของประเทศ ดังนั้นจึงควรนำทุนสำรองส่วนเกินดังกล่าว มาหาผลประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยยกตัวแบบของกองทุนมั่งคั่ง ที่มีในหลายประเทศ ในส่วนนี้ เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนยิ่ง และจำเป็นที่จะต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าควรจะต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนนี้เท่าใด และควรจะอยู่ในสินทรัพย์ประเภทใด จึงจะเพียงพอที่จะดำเนินนโยบายการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลก มีความเชื่อมโยงกันเพิ่มขึ้น และมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนที่สอง ที่อยู่ในทุนสำรองเงินตรานั้น โดยปกติธนาคารแห่งประเทศไทย จะไม่เข้าไปแตะต้องเงินจำนวนดังกล่าว เพราะทุนสำรองเงินตรานี้ เป็นสิ่งที่ใช้ประกันมูลค่าของธนบัตรที่ออกใช้ เนื่องจากในปัจจุบัน ทุนสำรองเงินตรา มีสินทรัพย์มากกว่าธนบัตรที่ออกใช้อยู่เป็นจำนวน หลายแสนล้านบาท จึงเคยมีแนวคิดที่จะนำทุนสำรองส่วนเกินบางส่วน ไปใช้ประโยชน์ เช่น ลดภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ แต่แนวคิดดังกล่าว ได้ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง จากกลุ่มประชาชนที่เคยบริจาคทองคำ และเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นทุนสำรองของประเทศ ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย และเงินดังกล่าวก็อยู่ในบัญชีทุนสำรองพิเศษนี้นี่เอง ดังนั้นหากต้องการที่จะเอาทุนสำรองส่วนเกินนี้มาใช้ประโยชน์ เช่น นำไปลงทุนให้เกิดดอกผลเกินกว่าดอกเบี้ยของหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯ หรือนำบางส่วนไปใช้คืนเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯ จำเป็นที่จะต้องหารือกับหลายฝ่าย เป็นต้นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ในเรื่องสัดส่วนทุนสำรองพิเศษที่เหมาะสม ว่าควรจะมีมูลค่าเท่าใด เพื่อที่จะรองรับความผันผวนของมูลค่าทรัพย์สินต่างประเทศ ที่ต้องมีการตีราคาเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องหารือ กับกลุ่มประชาชนที่บริจาคเงินเป็นทุนสำรองของประเทศ ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความจำเป็นดังกล่าว

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ.2555 หน้า 6.
17 ม.ค. 55 / 21:29
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 1817 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 27.130.133.193


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]