|
|
|
" อันซีนอินฮ่องกง การประชุมระดับนานาชาติ (2) " |
|
|
อันซีนอินฮ่องกง การประชุมระดับนานาชาติ (2)
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
จำได้ว่าสมัยเรียนมัธยม เด็กสวนฯ เรา มีลักษณะร่วมกันประการหนึ่ง คือเกลียดการ ซ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชียร์และแปรอักษร ที่ใครหลบได้เป็นหลบ ใครเลี่ยงได้เป็นเลี่ยง ใครโดดได้เป็นโดด ใครหนีได้เป็นหนี
พูดอย่างไม่อายรุ่นน้องๆ ณ วันนี้เลยว่า กระผมเอง ก็เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะร่วมที่ว่า
ใครมันจะอยากไปทรมานสังขาร นั่งตากแดด แหกปากร้องเพลง กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ในขั้นตอนของการซ้อมกันหละ ก็รุ่นพี่ครับ นี่มันการซ้อม จะเอาจริงเอาจังกันไปถึงไหน !
ฉะนั้น นัดซ้อมเชียร์กันเมื่อไหร่ ร้านเกมส์แน่นเป็นพิเศษเมื่อนั้น โดดกันพรึบ จะอยู่ให้โง่หรือไง เพลงก็ร้องกันมาไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยหนแล้ว
ยังไม่นับที่เปิดกรอกหูกันอยู่ทุกวัน เช้า-กลางวัน-เย็น กล่อมกันจนบางคน จบมาหลายปีดีดักแล้ว ยังจำเพลงโรงเรียน ได้แม่นกว่าเพลงชาติเสียอีก
แม้ใครหลายคน จะชอบยกคำพูด ที่เขาก็พูดกันทุกโรงเรียนนั่นแหละ มาสบประมาท ว่าวันนี้ มองข้างหลังก็แยกไม่ออกเสียแล้ว ว่านี่เด็กสวนฯ หรือเด็กโรงเรียนอื่น... เพราะตั้งแต่หัวจรดเท้า เครื่องแบบมันเหมือนกันเพ๊ะ ?
แต่เชื่อเถิดครับว่า เมื่อถึงเวลา เราก็ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง คำว่า อ่อนซ้อม จะใช้กับสถาบันการศึกษาเก่าแก่แห่งนี้ ได้ไม่สนิทนักหรอก
เพราะเมื่อขึ้นสู่แสตนเชียร์ ได้เวลา เอาจริง มันเหมือนมีอะไรสักอย่าง มาสะกิดเตือน ว่าเอ็งจะทำอะไรเลอะๆ เทอะๆ ไม่ได้ เพราะนี่มันไม่ใช่ชื่อเสียงส่วนตัว แต่เป็นชื่อเสียงของโรงเรียน
แค่นั้นหละครับ ตะเบ็งกันสุดเสียง เรียกว่าตายเป็นตาย ยิ่งงานฟุตบอลประเพณี จตุรมิตร สามัคคี - ตีเด่น เอ้ย ! ดีเด่น ด้วยหละก็ ไม่มีใครยอมใครแน่
มานั่งนึกๆ เอาตอนนี้ ค่อยเข้าใจ ว่าทำไมเมื่อหลายสิบปีก่อน อุดมการณ์ฟาสซิสต์บวกชาตินิยม ที่เรียกกันวันนี้ว่า นาซี ของพี่หนวดจิ๋ม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แก ถึงสามารถปลุกเร้าให้ชนเผ่าอารยัน ไปไล่ฆ่าชาวยิว ตายได้เป็นล้านๆ คน
ก็ขนาดกีฬาเด็กมัธยม ยังวิ่งไล่ เอาไม้ตี เอามีดแทง จนร้อนถึง พี่วัน กับ พี่ดวง ศิษย์เก่า ผู้มากบารมีย่านบางบอน สมัยนั้น ต้องมานั่งเฝ้า ลานเบียร์ที่สยามสแควร์ คอยดูแลความปลอดภัย ให้น้องๆ อยู่เลย
เช่นเดียวกันกับการประชุม ที่ทำท่าจะเป็น งานล้างป่าช้า เผาผีนานาชาติ ถึงเวลา ก็มีเซอร์ไพรส์ ไม่ทำให้ใครต้องผิดหวัง แม้ห้องจะเล็ก ผู้เข้าร่วมจะไม่หนาตา แต่เขาก็เอาจริงเอาจัง กันชนิดที่ไม่ค่อยได้พบได้เห็นนัก
แม้ในการประชุมระดับบิ๊กเบิ้ม ที่จัดกันตามมหาวิทยาลัยสำคัญ กระทั่งโรงแรมหรูหรา มีทั้งห้องใหญ่ห้องน้อย รวมถึงผู้เข้าร่วมการประชุม เป็นจำนวนมาก ในประเทศไทย
หลายต่อหลายงาน อาทิ ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 25 ถึงวันศุกร์ที่ 27 ที่ผ่านมา การประชุมประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ระดับชาติและนานาชาติ ศิลปากรวิจัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 5: บูรณาการศาสตร์และศิลป์
เพิ่งได้รับคำยืนยันแกมบ่น จากกัลยาณมิตรท่านหนึ่ง ซึ่งเดินทางไปเข้าร่วม เพื่อนำเสนอผลงานวิจัย ว่านอกจากคณะกรรมการจัดงาน กับผู้นำเสนอด้วยกันเองแล้ว ก็แทบหาคนอื่นๆ ไม่ได้
ซ้ำร้าย ต่างคนก็ต่างตั้งหน้าตั้งตา เตรียมที่จะพูดเรื่องของตัว พูดเสร็จ รับใบประกาศ ก็เร่งจรรี ไม่มีใครสนใจใคร เรียกว่าผู้นำเสนอคนสุดท้าย ในห้องก็จะมีแค่ ผู้ดำเนินรายการ กับผู้นำเสนอ 2 คน... ให้อดเหงาแทนไม่ได้ !
ทำให้กระผมได้เปิดหูเปิกตา ว่าในเมืองนอกเมืองนา งานประชุมวิชาการ เขาก็ให้ความสำคัญกับ วิชาการ จริงๆ ต่างจากบ้านเรา ที่เจ้าภาพ มักเหน็ดเหนื่อยอยู่กับ การจัดเตรียม พิธีกรรม เสียมากกว่า
แต่สุดท้าย ส่วนใหญ่แล้ว ผลก็ออกมาอีหรอบเดิม คือพูดกันเองฟังกันเอง หรือไม่ก็ต้องลำบากลูกศิษย์ลูกหา ถูกเกณฑ์กันมานั่งเป็นหน้าม้า เลวร้ายสุดๆ ก็เป็นอย่างที่ว่า ไม่มีผู้ฟังเลยสักคนเดียว
ความเหนือที่กระผม รู้สึกชอบอกชอบใจเป็นพิเศษ และคิดว่าผู้หลักผู้ใหญ่ ในสารขัณฑ์ประเทศแห่งนี้ น่าจะพิจารณา เอามาเป็นแบบอย่างดูบ้าง ก็คือการเผยแพร่ เอกสารประกอบการประชุม
เพราะนอกจากการประชุมในบ้านเรา จะไม่มีผู้เข้าร่วมรับฟังกันสักเท่าไรแล้ว เอกสารประกอบการประชุม ก็ยังเป็นสิ่งของหายาก ถ้าเปรียบเป็นสินค้า ก็เป็นรุ่น Limited Edition ทีเดียวครับ
ทั้งจำนวนพิมพ์ที่น้อยนิด แทบจะจำกัดเฉพาะผู้เข้าร่วมนำเสนอบทความ รวมถึงกระแสของการประชุมวิชาการในบ้านเรา ที่ปรับเปลี่ยนมาประหยัดต้นทุน ด้วยการอัดเป็นแผ่นซีดี แจกจ่ายกันเฉพาะในงานแล้ว
ขนาดอันไม่ชวนหยิบอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซื้อหามาเป็นเจ้าของ กับราคาที่สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวความหนา ก็ยิ่งผลักให้ ข้อเขียนที่มีคุณค่า มากบ้างน้อยบ้างเหล่านั้น มีประโยชน์กับบุคคลแค่ 2 ฝ่าย
ฝ่ายแรก คือผู้เขียนและสถาบันต้นสังกัด ที่จะนำไปใช้เป็นผลงาน ทั้งขอตำแหน่งแห่งที่ทางวิชาการ และการประกันคุณภาพ
ฝ่ายที่สอง คือหน่วยงานเจ้าภาพ ที่สามารถจัดงานประชุมวิชาการได้แล้วเสร็จ ทั้งที่เป็นไปเพื่อ เผาผีล้างป่าช้ากันเป็นการภายใน และนำไปเป็นผลงานอ้างอิงต่อไป
แต่แทบจะหาประโยชน์ในทางวิชาการใดๆ ไม่ได้ เพราะนอกจากผู้ที่เข้าร่วมด้วยกันเองแล้ว ก็แทบจะไม่มีใครเคยอีกเลย ที่ได้อ่าน
พูดกันให้ชัดๆ ก็คือ ถ้าบทความชิ้นไหน ที่ผู้เขียนไม่ได้/กล้า/สามารถ นำไปตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการอีกหน ก็แทบจะไม่มีใครอีกเลย ที่รู้ว่ามันได้เกิดขึ้นแล้วบนโลกใบนี้
แม้จะต้องควักกระเป๋า (สิงห์หนองจอก) จ่ายค่าลงทะเบียนไปถึง 520 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย ก็ปาเข้าไปถึง หมื่นกว่าบาท ก็เถอะ แต่แลกกับการที่บทความของเรา จะได้ไปปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลสากล
อาทิ EBSCO, Thomson ISI, Engineering & Technology Digital Library, World Cat รวมถึง Google Scholar ที่ไม่ว่าใครที่ไหนบนโลกใบนี้ ก็สามารถเข้าถึงเอกสารฉบับเต็ม อ่าน วิจารณ์ และนำไปอ้างอิงกันได้ทั่วไป
กระผมและทีมงาน ก็เห็นร่วมกันว่า มันคุ้มแสนจะคุ้มครับ
ลองคิดดูง่ายๆ ก็ได้ ว่างานวิจัยจำนวนมากในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ที่ขอทุน/ลงทุนกันเป็นแสนเป็นล้าน เสียเวลากันเป็นปีๆ หากแต่เมื่อแล้วเสร็จ กลับนำไปเข้าปกติดสัน ใส่พานขึ้นหิ้งบูชา
จะลงทุนกันอีกสักหมื่นสองหมื่น เผยแพร่ผลงานให้โลกได้รับรู้ ว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ผู้นำทางวิชาการ จะต้องเป็นฝรั่ง คนไทยก็มีปัญญาคิด และก็คิดได้ดีไม่แพ้กันด้วย ไม่ได้หรือไง
เว้นเสียแต่ว่า... งานมันจะห่วย จนต้องห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ และซ่อนเอาไว้ให้ลับตาคนใต้ตู้ ?
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ.2555 หน้า 6 |
|
|
31 ม.ค. 55 / 15:44 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 1715 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
180.214.210.115
|
|
|
|