[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแก้ปัญหายาเสพติด ระดับ ‘ด็อกเตอร์’ "
ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีแก้ปัญหายาเสพติด ระดับ ‘ด็อกเตอร์’

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

“รัฐบาลนี้จะไม่มีการฆ่าตัดตอน ยาเสพติดไม่ได้เกิดที่บ้านเรา แต่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าแก้ไม่ถูกจุด ก็แก้ไม่ได้”

นี่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ยุทธศาสตร์” ของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการที่จะเข้ามารื้อฟื้น และสานต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด โรคร้ายแรงเรื้อรังของสังคมไทย ให้ลดลงตามเป้าหมาย ร้อยละ 80 ทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งสมัยหนึ่ง ใครหลายคนยังคงติดตาตรึงใจ กับรัฐบาล พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ริเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ไว้แล้วอย่างจริงจัง จนเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

รอบนี้ ร้อยตำรวจเอก ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ

จึงยืนยันหนักแน่น เมื่อช่วงสายของวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในการประชุมนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามแผนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด พ.ศ.2555 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

ด้วยคำพูดดังกล่าว นี่อาจเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าความสำเร็จในอดีต รัฐบาลของนายใหญ่ตราดูไบห่อ ตั้งอยู่บนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ดำเนินการภายใต้ยุทธวิธีการฆ่าตัดตอนจริง

หรืออาจเป็นเพียงการผลิตซ้ำวาทกรรม ว่าด้วยการดูหมิ่นเหยียบหยาม และโยนสารพัดบาปสารพรรณกรรม ให้ประเทศเพื่อนบ้านที่ด้อยกว่า ทั้งเรี่องยาเสพติด บ่อน โสเภณี ขอทาน แรงงาน และสินค้าลักลอบเข้าเมืองผิดโดยกฎหมาย

ซึ่งรับกัน ณ ที่นี้ว่า เป็นเรื่องที่กระผมไม่ค่อยใส่ใจเท่าใดนัก มาสะดุดเอาก็อีตรงประโยคท้าย ว่า “ถ้าแก้ไม่ถูกจุด ก็แก้ไม่ได้” เพราะใจลึกๆ ก็อยากรู้เหมือนกัน ว่าไม้เด็ดอะไร ที่อดีตสารวัตรประเทศไทย จะงัดออกมาใช้ในครั้งนี้

เท่าที่จับจากรายงานข่าว ซึ่งสื่อแขนงต่างๆ ทยอยนำเสนอ ได้ใจความว่า พ่อของพี่วันและพี่ดวง โชว์เหนือ ชิงซีน ยกระดับปัญหายาเสพติด จาก “วาระแห่งชาติ” ที่เจ๊ปูเพิ่งประกาศไว้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นไปเป็น “วาระแห่งภูมิภาค”

“ยุทธวิธี” ที่เลือกจะนำมาใช้ จึงมิได้จำกัดแค่การไล่ล่าผู้เสพ-ผู้ค้า ภายในขอบของเส้นแบ่งเขต ชนิดเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นการขึงรั้วลวดหนามตามแนวตะเข็บชายแดน

การเดินทางไปเยือน เพื่อขอความช่วยเหลือจากยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาค อย่างจีน ให้เข้ามาร่วมกดดัน รวมถึงการจัดเตรียมการประชุมกฎบัตรยาเสพติดอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยพร้อมเพรียงกัน

เท่าที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นเรื่องเข้าใจได้ทั้งสิ้น ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ยาเสพติดไม่ได้เกิดที่บ้านเรา แต่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน

ถ้าจะแก้ให้ถูกจุด ในเชิงรับ ก็ต้องไม่ปล่อยให้มันทะลักเข้ามา ส่วนในเชิงรุก ก็ต้องประสานขอความร่วมมือ/กดดันให้รัฐบาลของเขาช่วยเร่งสะสาง

ส่วนที่เข้าใจลำบาก คือที่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดร.เฉลิม จะนำระบบการดักฟังโทรศัพท์มาใช้ ซึ่งดีเอสไอ มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและบุคลากร สำหรับปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างถูกกฎหมาย

และที่เข้าใจไม่ได้เลยก็คือ แนวคิดที่จะยกเลิกสิทธิ์ มิให้ผู้ต้องหาคดียาเสพติด สามารถยื่น “ฎีกา” หากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ทำการ “ประหาร” โดยเร็วที่สุด ภายใน 60 วัน

ก็ถ้า ดร.เฉลิม ไม่เคยเถียงกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล จนคอเป็นเอ็น ว่าตนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาและสถาบันซึ่งกระผม ทนเรียนได้เพียงปีครึ่งก็ถอดใจ แม้ในระดับปริญญาตรี

ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ทั้งกับยุทธศาสตร์ที่กล่าวอ้าง ว่าเป็นการต่อสู้กับภัยคุกคามภายนอก ตลอดจนหลักนิติปรัชญา ว่าด้วยกระบวนการการตัดสินคดีความ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางคดีอาญา

แม้ ดร.เฉลิม จะระบุว่าเรื่องของการห้ามฎีกานั้น มิใช่กฎหมายที่เพิ่งแก้ไขใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงกันมานมนานแล้ว ตั้งแต่สมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ดังปรากฎใน พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 ความว่า

“ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด...”

และมาตรา 19 ความว่า

“ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้

เมื่อมีคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง ศาลฎีกาอาจพิจารณารับฎีกาในปัญหาเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้วินิจฉัยก็ได้ หากเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย...”

ว่ากันตามตัวบทกฎหมาย แม้มาตรา 18 วรรค 1 กำหนดให้การตัดสินของศาลอุทธรณ์เป็นที่สิ้นสุด แต่ยังเปิดช่องให้ผู้ต้องหา สามารถยื่นฎีกาได้ตามมาตรา 19 วรรค 1 และวรรค 2 ในท้ายที่สุด หากเห็นว่าตนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

กระบวนการ “การขอให้ทบทวน” หรือ “การขอให้เพิกถอนคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์” อันเป็นความหมายของคำว่า “ฎีกา”

ดังคำอธิบายของ ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ในตำรา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” จึงยังพอเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้

แต่ “ด็อกเตอร์” ทางกฎหมาย ผู้ประกาศต่อสาธารณชนว่า “ผมไม่โง่หรอก โง่เป็นด็อกเตอร์ไม่ได้” กลับมองไม่เห็นความสำคัญ

ทำเหมือนไม่เคยรับเคยรู้มาก่อน ว่าในวิชากฎหมายเบื้องต้น ตั้งแต่มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก จนถึงมหาวิทยาลัยที่แย่ที่สุดในจักรวาล ก็สอนเช่นเดียวกันว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “ผู้ต้องหา คือผู้บริสุทธิ์”

นอกจากจะตัดโอกาสในการต่อสู่คดี เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของประชาชนแล้ว ด็อกเตอร์ผู้เขียนดุษฎีนิพนธ์เรื่อง

“ปัญหาการบังคับใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา: ศึกษากรณีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง”

ยังเร่งรัดให้ดำเนินการประหารชีวิตผู้ต้องหา ด้วยเหตุผลว่า “คนพวกนี้สมควรตาย เพราะถึงจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำก็ยังก่อเหตุอีก ถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็แก้ไม่ได้”

ซ้ำยังมีความเชื่อมั่น ว่านี่ “ไม่เป็นการจำกัดสิทธิจำเลย เพราะกฎหมายแก้ไขมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งจะมาแก้ เริ่มต้นใช้ตั้งแต่สมัยผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม”

ตัวกระผมก็แค่นักเรียน จะไปสั่งสอนท่านด็อกเตอร์ เห็นทีจะไม่เหมาะ ครั้นจะปล่อยไว้เช่นนี้ ก็อดสงสารและเป็นห่วงประชาชนไม่ได้ จึงขอยกคำอธิบายเรื่อง “ความจำเป็นที่ต้องมีการอุทธรณ์ฎีกา” ของ ดร.คณิต นั่นหละ มาให้อ่านแทน

“ผู้พากษาซึ่งประกอบเป็นศาล ก็เป็นปุถุชนธรรมดา ที่อาจผิดพลาดบกพร่องในการวินิจฉัยและสั่งคดีได้ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากความไม่รู้ ความไม่ละเอียดรอบครอบพอ หรือความผิดหลง ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวผู้พิพากษาเอง

นอกจากนั้น ในด้านพยานหลักฐาน ที่ผู้พิพากษาใช้ประกอบในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ก็อาจเกิดความผิดพลาดบกพร่องได้ด้วยเช่นเดียวกัน

เป็นต้นว่า พยานหลักฐานอาจไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับความจริง หรือไม่ครบถ้วน เหล่านี้เป็นที่มาของความบกพร่องของการตัดสินชี้ขาดคดีทั้งสิ้น และความบกพร่องนั้นอาจเป็นในรูปแบบต่างๆ กัน คือ

1. อาจเป็นการใช้กฎหมายผิด เช่น ใช้กฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้ว มาลงโทษบุคคลไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย หรือ

2. อาจเป็นการฟังข้อเท็จจริงผิด ซึ่งการรับฟังข้อเท็จจริงผิดนี้ อาจเกิดขึ้นได้หลายประการ เป็นต้นว่า การสืบพยานหลักฐานไม่ละเอียดครบถ้วน การสรุปข้อเท็จจริงผิด หรือพยานหลักฐานที่นำมาใช้ในการชั่งน้ำหนัก เป็นพยานหลักฐานที่ยังคลุมเครืออยู่

ดังกล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า แม้ศาลจะมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี กรณีก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการอุทธรณ์ การฎีกา ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันในการอำนวยความยุติธรรม”

ถ้าอ่านแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็ลองจินตนาการดูว่า ผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิต คือลูกชายหัวแก้วหัวแหวน แม้รู้ทั้งรู้ ว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์ แต่ด้วยกระบวนการของศาลทั้ง 2 ชั้นที่ผ่านมา กลับชี้ว่าเขาผิด โอกาสสุดท้ายที่จะรักษาชีวิต คือศาลฎีกา

คงทำให้คนฉลาดอย่างท่าน เข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น... โดยไม่ต้องร้อนถึง “ไอ้ปื๊ด” ครับ !!!

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 หน้า 6
19 ก.พ. 55 / 23:37
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 2009 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 14.207.236.207


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]