|
|
|
" Avatar, อวตาร์ และ อวตาร (1) " |
|
|
Avatar, อวตาร์ และ อวตาร (1)
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
เมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา ขณะเดินทางกลับจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับบรรดาว่าที่บัณฑิต/มหาบัณฑิต/ดุษฎีบัณฑิตใหม่ ในงานวันซ้อมใหญ่พิธีรับปริญญาบัตร ประจำปี 2554
สิงห์หนองจอก ก็โพล่งถามขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ว่า พี่จะซื้อแมคบุ๊คมาใช้สักเครื่องดีไหม ? ในฐานะพี่น้องที่รักใคร่ชอบพอกัน กระผมจึงตอบกลับไปอย่างสุภาพว่า เดือนหนึ่งพี่เปิดโน๊ตบุ๊คเครื่องเก่าใช้ถึง 5 ครั้งไหม
พูดเช่นนี้ ใช่ว่าถ้าใครก็ตาม ที่เปิดคอมพิวเตอร์ใช้ไม่ถึง 5 ครั้ง/เดือน จะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่สามารถครอบครองแมคบุ๊ค หรือผู้ที่เปิดใช้ถี่กว่านี้ จะมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าถึงคราวต้องไปซื้อหามันมาเป็นเจ้าของ
เงื่อนไขที่กำหนดว่าใครสักคน จะพิมพ์รายงานหรือท่องอินเตอร์เน็ต ด้วยโน๊ตบุ๊คไทยประกอบ อุปกรณ์ครบ ของแถมเพียบ ราคาหมื่นนิดๆ หรือแมคบุ๊คตัวท็อป เครื่องเปล่า ของแต่งให้หาซื้ออีกจม ราคาริมแสน ได้แก่ 3 ข้อนี่ต่างหากเล่า
1. ความต้องการ เริ่มจากว่าต้องการอะไร อรรถประโยชน์เชิงใช้สอย หรือเครื่องประดับแสดงฐานะ เป็นความต้องการของใคร ผู้ชายหรือผู้หญิง กระทั่ง ระดับของความต้องการ ว่ามากน้อยเพียงใด ถึงขนาด/เข้าข่ายจำเป็นหรือไม่ ฯลฯ
2. ความคุ้มค่า ที่แม้จะเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ไม่มีมาตรฐานตายตัว สรุปคร่าวๆ ได้แค่ เป็นอัตราส่วนที่ชั่งน้ำหนักด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งกำกับด้วยสติแล้ว ว่าสิ่งที่ต้องการจะได้รับการตอบสนอง ในระดับอันเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เหนือสิ่งอื่นใด
3. ความสามารถในการจ่าย เงื่อนไขสำคัญที่สุด เพราะไม่ว่าความต้องการ รวมถึงความคุ้มค่า จะมีมากน้อยเพียงใด หากไร้ซึ่งความสามารถในการจ่ายแล้วหละก็ เรื่องราวทั้งหมดที่คิดกันมา ก็คงเป็นแค่ความฝันตอนกลางวัน... ฮ่า ฮ่า ฮ่า !
แม้จะยังไม่เหลือกินเหลือใช้พอซื้อแมคบุ๊ค มาโชว์สาวๆ ตามสตาร์บัคส์ อย่างที่วัยสะรุ่นสมัยนี้นิยมทำกัน กระผมก็ยืนยันว่า โตชิบา พอร์เทเจ ที 130 สลิมซีรี่ส์ ที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ มันก็เป็นเครื่องมือที่เพียงพอ เก็บและผลิตงานได้ไม่น้อย
จัดเรียงข้อมูลคราวก่อน บังเอิญเจอเอกสารที่ค้นคว้าเก็บไว้ ตั้งใจจะเขียนเป็นบทความวิชาการลงตีพิมพ์ในวารสาร แต่ล่วงมาถึงวันนี้ก็ปาไปกว่า 2 ปี ขืนปล่อยทิ้งไว้อีก เห็นทีท่าจะเสียเปล่า จึงขอนำบางส่วนบางตอน มาเล่าก่อนก็แล้วกัน
เรื่องราวทั้งหมด เริ่มต้นจากการเข้าฉายของภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 มิติ ผลงานการกำกับของ เจมส์ คาเมรอน เจ้าของคำประกาศ Im the king of the world เรื่อง Avatar หรือ อวตาร ในภาษาไทย เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2552
เนื้อเรื่องโดยสรุป กล่าวถึงการรุกรานดาวดวงอื่นของมนุษย์โลก เพื่อค้นหาทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นประโยชน์ มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจ และคุ้มค่ากับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ภายใต้สารพัดแนวทางเพื่อให้วัตถุประสงค์บรรลุผล นักวิทยาศาสตร์ชาวโลกจึงคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า Avatar หรือร่างควบคุมผ่านคลื่นสมองระยะไกล ที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกันกับของชาวพื้นเมือง
ด้วยความมุ่งหมายที่แตกต่าง ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งจะเรียนรู้และเกลี่ยกล่อมให้ชาวพื้นเมืองร่วมมือ กับนักลงทุน ที่ไม่เกี่ยงวิธีการ ขอเพียงให้แหล่งแร่ใต้ชุมชน ตกมาอยู่ในมือของตน และสามารถนำส่งกลับไปขายยังโลกได้
โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วม อย่างที่นักมนุษยวิทยาชอบใช้ในการศึกษาวัฒนธรรมของสังคมด้อยพัฒนา จึงกลายสภาพไปเป็นข้อมูลเบื้องต้น ให้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยไม่ได้ตั้งใจ
ในฐานะนักเรียนที่มีความสนใจเป็นพิเศษ กับการศึกษาผลงานวรรณกรรมในเชิงปรัชญาการเมือง ประเด็นทางวิชาการที่ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในตอนต้น จึงเป็น การก่อรูปของสังกัปว่าด้วยสงครามอเมริกัน-อิรัก
ซึ่ง การก่อรูปของสังกัป ก็เป็น 1 ใน 3 ความหมาย ของคำว่า Avatar ในภาษาอังกฤษ ที่จงใจจะยกขึ้นมาล้อเลียน และขับเน้นเพื่อนำไปสู่ข้อท้วงติงประการหนึ่ง เกี่ยวกับการแปลชื่อของภาพยนตร์เรื่องนี้มาเป็นภาษาไทยด้วย
เพราะหากตรวจสอบจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ทั้งที่แปลเป็นภาษาอังกฤษและ/หรือภาษาไทย ก็จะพบว่า Avatar มีความหมายที่แตกต่างแต่คล้ายคลึงกันอยู่เพียง 3 นัย คือ
1. การแบ่งภาคลงมาเกิดยังโลกมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาฮินดู ตามรากศัพท์ในภาษาสันสกฤต Avatara (ava + tara) โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนารายณ์ (พระวิษณุ) พระผู้รักษาโลก ทั้งในรูปของมนุษย์และอมนุษย์
2. การก่อรูปของสังกัป หรือลักษณะทางกายภาพ ทัศนคติ ความคิด มุมมองเกี่ยวกับชีวิต รวมถึงหลักการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งนามธรรม ให้ปรากฎเป็นรูปธรรม และ
3. ภาพแทนหรือรูปสัญลักษณ์ของยูสเซอร์/เจ้าของแอคเคาท์ ในโลกเสมือนจริง อาทิ อินเตอร์เน็ต
ว่ากันตามเนื้อหาของภาพยนตร์ ความหมายของชื่อเรื่องจึงมีความโน้มเอียงที่จะตรงกับนัยที่ 2 กล่าวคือการก่อรูปของความเป็นผู้ควบคุมร่างเทียม ให้ปรากฎเป็นร่างเทียม ทั้งลักษณะทางการภาย ความคิดความอ่าน ตลอดจนนิสัยใจคอ
หรือพอที่จะถูไถได้ด้วยความหมายตามนัยที่ 3 ว่าเป็นภาพแทน ซึ่งโดยธรรมชาติ ย่อมมีควมคล้ายคลึงกับลักษณะเด่นของยูสเซอร์ไม่มากก็น้อย ในโลก (เสมือนจริง) ของชาวพื้นเมือง ผ่านการควบคุมด้วยคลื่นสมองระยะไกล
ส่วนความหมายตามนัยที่ 1 นั้น เรียกว่าปิดประตูตายไปได้เลย เพราะเป็นนิยามที่ยึดโยงอยู่กับ เทพปกรณัมพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งแม้จะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง ว่า คาเมรอน อาจนำแนวคิดทางตะวันออกเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้
แต่ด้วยองค์ประกอบอันเป็นสาระหลักของกริยา พระผู้เป็นเจ้าแบ่งภาคลงมาเกิด จึงย่อมไม่สามารถสวมแทนกันได้ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และประสานคลื่นสมองของมนุษย์เข้ากับร่างเทียม
ขณะที่เมื่อตรวจสอบจากพจนานุกรมภาษาไทย อวตาร กลับมีเพียงความหมายอันอ้างอิงอยู่กับภาษาสันสกฤต อว บวก ตร แปลว่า การลงมาเกิด การแบ่งภาคมาเกิดในโลก ไปไกลสักหน่อยก็ว่า เป็นชื่อของพระนารายณ์
เรียกว่ากินความลำพังนัยที่ 1 ของ Avatar ในภาษาอังกฤษ ซึ่งกระผมก็ได้ชี้เหตุแจงผลไปแล้ว ว่าไม่น่าจะใช่ความหมายของชื่อภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เจ้าของสถิติทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเรื่องนี้ เป็นแน่แท้
สรุปอย่างสุภาพก็คือ ชื่อแปลในภาษาไทย ทำท่าจะไม่สอดรับกับความหมายที่ต้องการสื่อในภาษาอังกฤษ พูดตรงๆ ได้ว่า งานนี้แปลผิดนั่นเอง
เมื่อรู้แล้วว่า อวตาร ในภาษาไทยปัจจุบัน ไม่สามารถรองรับนัยของ Avatar ที่ว่าได้ ผู้เกี่ยวข้องก็มี 2 ทางเลือก คือ 1 หาทางกล่อมให้บรรดาผู้เฒ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน ราชบัณฑิตยสถาน ยอมขยายความหมายของคำในพจนานุกรม
หรือไม่ก็ 2 ย้อนกลับไปเปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่ ซึ่งง่ายกว่าเป็นไหนๆ ในทางทฤษฎี แต่เชื่อเถอะครับว่า ไม่มีใครเอาด้วยกับกระผมชัวร์
เมื่อเป็นกันซะอย่างนี้ กระผมก็ขอประกาศยึดอำนาจ ตั้งเองใช้เองเสียเลย ว่า อวตาร์ ส่วนใครจะเอาอย่าง นำไปใช้กันดูบ้าง ก็ไม่สงวนห้ามแต่อย่างใด เพราะการลดความมั่วให้น้อยลง ใช้คำถูกให้มากขึ้น ออกจะเป็นเรื่องมงคล
เรียกว่ายิ่งใช้ ก็ยิ่งเป็นมงคลครับ !!!
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2555 หน้า 6. |
|
|
05 มี.ค. 55 / 23:44 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 2177 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
27.130.122.41
|
|
|
|