|
|
|
" Avatar, อวตาร์ และ อวตาร (2) " |
|
|
Avatar, อวตาร์ และ อวตาร (2)
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
ภาคที่แล้วว่าด้วยความคลาดเคลื่อน ของการแปลชื่อภาพยนตร์ จากภาษาอังกฤษ Avatar มาเป็น อวตาร มิใช่ อวตาร์ อย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุแห่งความกว้างขวางของนิยามในภาษาอังกฤษ สวนทางกับความคับแคบในภาษาไทย
เรียกร้องให้ผู้แปล ต้องมีความรู้ความเข้าใจ มิใช่แต่ในด้านภาษาอังกฤษ แต่เป็นภาษาศาสตร์ ซึ่งถูกรองรับอยู่โดยวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่สำคัญ ต้องมีความละเมียดละมัย พิจารณาให้ถ้วนถี่ถึงความถูกต้องเหมาะสม ใช่จะสักแต่ว่าแปล
เช่นเดียวกับการแปลภาษาแขก มาเป็นภาษาไทย นั่นแหละครับ ที่ภาคนี้จะนำมาว่ากันต่อ ด้วยการชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการที่นับวันก็ยิ่งแย่ลงๆ ทุกที ของแหล่งอ้างอิงพื้นฐาน อย่าง พจนานุกรม ผ่านการยกตัวอย่างคำว่า อวตาร นี่แหละ
เริ่มจาก หนังสืออักขราภิธานศรับท์ (Dictionary of the Siamese Language) ของ ดร.แดนนิช แบรดเลย์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2416 ระบุไว้ที่หน้า 796 ว่า อะวะตาร, แปลว่า เปนที่พึ่งที่เร้น, เปนชาติผู้มีฤทธิ์แบ่งไปบังเกิด.
พจนานุกรม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ของ ร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) พ.ศ.2469 หน้า 89 อวตาร. น. การจุติของเทพยดา; การเอาร่างของพระวิษณุ; (คำเยินยอ) พระอวตาร, ผู้เลื่อมใสหรือสูงศักดิ์
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 เมื่อ พ.ศ.2507 หน้า 999 อวตาร [อะวะ--] น. การลงมาเกิด, การแบ่งภาคมาเกิด เช่น พระนารายณ์ลงจากสวรรค์. ชื่อพระนารายณ์; ชื่อเรียกพระเจ้าแผ่นดินหรือคนสำคัญ. ก. ลงมาเกิด, แบ่งภาคมาเกิดในโลก. (ส.).
พจนานุกรมไทย รวบรวมโดย มานิต มานิตเจริญ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2504 และพิมพ์ครั้งที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2519 หน้า 1080 อวตาร [อะ-วะ-ตาน] ก. ลงมาเกิด, แบ่งภาคมาเกิดในโลก; ส.,น. การลงมาเกิด, การแบ่งภาคมาเกิด, ชื่อพระนารายณ์, ชื่อเรียกพระเจ้าแผ่นดินหรือคนสำคัญ.
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ.2538 หน้า 922 อวตาร [อะวะตาน] ก. แบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์) เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นปลา. (ส.).
พจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2530 จัดทำตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด และฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หน้า 594 อวตาร [อะวะตาน] ก. แบ่งภาคมาเกิดในโลก; น. การลงมาเกิด; ชื่อพระนารายณ์; ชื่อเรียกพระเจ้าแผ่นดินหรือคนสำคัญ. (ส.).
ไล่เรียงมาร้อยกว่าปี นับตั้งแต่การรวบรวมคำ จัดทำพจนานุกรมฉบับแรกของไทยขึ้น โดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน ภายใต้วัตถุประสงค์ประการหนึ่ง คือการวางมาตรฐานการใช้ภาษาไทยให้แก่คนไทย กระทั่ง พ.ศ.2530
ความหมายของคำว่า อวตาร เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวไว้ในภาษาอังกฤษ ยังคงมีนัยเกี่ยวพันอยู่กับรากศัพท์ภาษาสันสกฤต คือ อะวะ และ ตะระ หมายถึง การแบ่งภาคลงมาเกิด
ซึ่งหลายคนมักเข้าใจสับสน กับคำว่า จุติ ที่ตามพจนานุกรม หมายถึง การตาย การเคลื่อน หรือการเปลี่ยนสภาพจากกำนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง พอนำไปปรับใช้กับเทวดา จึงเป็นการลงมาเกิดในโลกมนุษย์ ด้วยเงื่อนไขที่ต้องขาดจาดความเป็นเทวดา หรือเรียกง่ายๆ ว่า ต้องตายเสียก่อน
ฉะนั้น ผู้ที่ใช้คำว่า จุติ จึงมีรูปธรรมอยู่บนโลกมนุษย์ได้เพียง 1 ขณะที่ผู้ที่ใช้คำว่า อวตาร จะมีรูปธรรมอยู่บนสวรรค์เช่นเดิม 1 และบนโลกมนุษย์ได้ไม่จำกัด เท่าจำนวนอวตารที่ยังไม่ตาย
ย้อนกลับมาว่ากันเกี่ยวกับความหมายตามพจนานุกรม ด้วยเหตุที่คำว่า อวตาร มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมและความเชื่อของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การแบ่งภาคลงมาเกิดในโลกมนุษย์ที่ว่า จึงมักเป็นกริยาของเทพเจ้าในศาสนาดังกล่าว และเทพเจ้าที่เชื่อว่ามีหน้าที่ในการพิทักษ์โลก สงวนโลก รวมถึงปราบทรชนเมื่อโลกเกิดยุคเข็ญ ก็คือ พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ นั่นเอง ดังที่พระกฤษณะ ปางหนึ่งของพระนารายณ์ ตรัสแก่อรชุน ใน ภควัทคีตา ว่า
เมื่อธรรมะถูกเหยียบย่ำ อธรรมเฟื่องฟู โอ ภารตะ ! เราจะอวตารมาเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อรักษาธรรม เพื่อทำลายคนชั่ว แล้วสถาปนาขึ้นใหม่ เราอวตารมาแล้วเป็นอเนกชาติ
นอกจากจะหมายถึงการแบ่งภาคลงมาเกิด ในพจนานุกรม อวตาร จึงยังถือเป็นชื่อหนึ่งของพระนารายณ์ รวมถึงพระมหากษัตริย์หรือบุคคลสำคัญ ซึ่งก็ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ล้วนแต่เป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ด้วยกันทั้งสิ้น
ความเปลี่ยนแปลงสำคัญของการให้ความหมาย เข้าใจว่าเกี่ยวพันอย่างยิ่ง กับ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2546 หน้า 1338 ที่ระบุว่า อวตาร [อะวะตาน] ก. การแบ่งภาคมาเกิดในโลก (ใช้แก่พระนารายณ์) เช่น พระนารายณ์ อวตารมาเป็นปลา. (ส.).
ทำนองเดียวกับ พจนานุกรม ฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547 หน้า 955 อวตาร [อะ-วะ-ตาน] ก. แบ่งภาคลงมาเกิดในโลก (ใช้เฉพาะพระนารายณ์). (ส.).
รวมถึง พจนานุกรมไทย ฉบับทันสมัยและสมบูรณ์ โดย ฝ่ายวิชาการภาษาไทย บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2552 หน้า 1257 อวตาร [อะวะตาน] ก. แบ่งภาคมาเกิดในโลก, ใช้แก่พระนารายณ์ เช่น พระนารายณ์อวตารมาเป็นเต่า. (ส.).
น่าตกใจเหลือเกิน ที่คำนิยามถูกบีบแคบลง จากการแบ่งภาคลงมาเกิดของ เทพเจ้าองค์ใดก็ได้ เหลือเพียง ใช้แก่/เฉพาะพระนารายณ์ เท่านั้น
จะว่าความหมายเปลี่ยนแปลงตามการใช้ของสมาชิกในสังคม ก็เห็นจะไม่ใช่หละครับ ค้นจากตำรับตำราทางศาสนา กระทั่งเว็บไซต์ลัทธิความเชื่อต่างๆ ก็ยังเห็นได้ไม่ยาก ที่คำดังกล่าว ถูกนำไปกล่าวถึงว่าเป็นกริยาของเทพองค์อื่นๆ
ยกตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ศรีสัตยา ไส บาบา ผู้นำทางจิตวิญญาณคนสำคัญชาวอินเดีย หนึ่งในบุคคลร่วมสมัยที่มีผู้นับหน้าถือตามากที่สุดในโลก และประกาศตนว่าเป็นอวตารของพระศิวะ ก็เพิ่งจะเสียชีวิตไป
แทนที่จะกล่าวถึง นารายณ์สิบปาง ที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นชิน และหาอ่านได้ไม่ยากตามหนังสือทั่วๆ ไป วันนี้กระผมขอถือโอกาส นำบทสัมภาษณ์ของ ไส บาบา โดย ดร.การันเจีย ในหนังสือ God Lives in India มาให้ลองอ่านกันดู
ดร.การันเจีย: ในเบื้องต้นนี้ ท่านสวามีครับ เราอยากรู้อะไรสักเล็กน้อยเกี่ยวกับการอวตารลงมาเกิดทั้ง 3 ชาติของท่านครับ คือชาติก่อน ชาตินี้ และชาติหน้า ตั้งแต่ท่านเชอร์ดิไสบาบา มาถึงสัตยาไสบาบา และเปรมมาไสบาบา ที่จะมาในอนาคต ตามคำบอกของท่าน
ไส บาบา: ก่อนอื่น เธอจะต้องทำความเข้าใจในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่าสมบูรณ์ของการอวตารลงมาทั้ง 3 ครั้ง ในยุคอดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ทั้งในยุคของพระรามและพระกฤษณะ นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เมื่อคนเราไม่เข้าใจปัจจุบัน แล้วเขาจะรู้ จะเข้าใจอดีตได้อย่างไร ทุกการอวตารจะสมบูรณ์อย่างเต็มที่ โดยสัมพันธ์กับเวลา สถานการณ์และภารกิจในเวลานั้น ไม่มีอะไรแตกต่างกันเลยในรูปแบบการอวตารของพระเจ้า ที่อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ หรือไสบาบาองค์นี้
พระรามอวตารลงมาเพื่อปลูกฝังความจริงและความชอบธรรม พระกฤษณะอวตารมาเพื่อดูแลต้นไม้แห่งสันติและความรัก ความเมตตา บัดนี้ หลักการอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น กำลังตกอยู่ในอันตรายจนอาจถึงพินาศสิ้น อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของตัวมนุษย์ ซึ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจการโถมกระหน่ำโจมตีของพลังที่ชั่วร้ายต่างๆ ความชั่วร้ายกำลังกำชัยเหนือความดี ความมีจิตใจสูง และสภาวะที่เป็นทิพย์ในตัวมนุษย์ นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมอวตารองค์ปัจจุบันนี้ จึงต้องลงมาพร้อมด้วยพลังอำนาจทั้งมวลแห่งจักรวาล ทั้งนี้เพื่อปกป้องธรรมะให้พ้นจากอธรรม
ดร.การันเจีย: คำว่าองค์อวตารในปัจจุบันนี้ ท่านหมายถึงไสบาบาใช่ไหมครับ ?
ไส บาบา: ใช่แล้ว ฉันอวตารลงมาเกิดหลายยุคหลายสมัย ชาติแล้วชาติเล่า เพื่อปกป้องธรรมะให้พ้นจากอธรรม เมื่อใดที่เกิดความโกลาหล เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยกไม่ลงรอยกันทั่วโลก พระเจ้าก็จะอวตารลงมาในร่างมนุษย์ เพื่อบอกหนทางที่จะนำไปสู่ความรัก ความปรองดอง และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ดร.การันเจีย: นั่นก็พอเข้าใจได้ แต่พวกที่สงสัยเขาก็สงสัยว่า ทำไมพระเจ้าจึงต้องใช้ร่างของมนุษย์เล่า ?
ไส บาบา: เพราะว่านั่นเป็นวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะให้พระเจ้าที่อยู่ในตัวมนุษย์ได้สำแดงเดชออกมา องค์อวตารถือเอาร่างของมนุษย์ และทำตัวเหมือนมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์รู้สึกว่าเป็นพี่น้องญาติมิตรกับพระเจ้า ในขณะเดียวกัน องค์อวตารก็ดำเนินชีวิตที่สูงส่งแบบพระเจ้า เพื่อให้มนุษย์เกิดแรงบันดาลใจที่จะยกระดับตนเองให้สูงขึ้นถึงระดับของพระเจ้าบ้าง การทำให้มนุษยชาติเกิดความตระหนักถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ซึ่งสถิตอยู่ในจิตใจของเขา ในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิดพลังชีวิตแก่พวกเขา นั่นคือภารกิจของทุกพระอวตาร
พระอวตารในยุคก่อนๆ เช่นพระราม และ พระกฤษณะ จำเป็นต้องทำลายชีวิตบางชีวิต ที่ประพฤติตนเป็นศัตรูต่อวิถีทางอันประเสริฐของชีวิต ทั้งนี้ก็เพื่อสถาปนาหนทางแห่งธรรมะให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ความชั่วร้ายได้แปดเปื้อนโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก จนกระทั่งมนุษย์ต้องตกอยู่ในสภาวะที่ล่อแหลมต่อความพินาศเต็มที เหตุนี้ในอวตารปางปัจจุบันของฉัน จึงพร้อมด้วยพลังอำนาจอันเพียบพร้อมของพระเจ้าซึ่งปราศจากรูปลักษณ์เพื่อแก้ไขมนุษยชาติ เพื่อยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น และนำพาพวกเขาให้กลับไปสู่หนทางที่ถูกต้อง นั่นก็คือหนทางแห่งความจริง ความประพฤติ ความสงบสันติ และความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง ที่เป็นหนทางที่จะนำมนุษย์ไปสู่พระเจ้า...
ในฐานะที่กระผมเป็นเจ๊กซัวเถา เรื่องเทพเจ้าของแขกจึงไม่ค่อยใส่ใจ เรียกว่าอ่านกันพอผ่านๆ ไอ้ที่สนจริงๆ คือ เรื่อง พระถังซัมจั๋ง ตอนต้นเรื่องของภาพยนตร์จีนชุด ไซอิ๋ว ที่ว่าท่านเป็นศิษย์เอกของพระยูไล แต่ดันเผลอหลับ เลยถูกขับให้ลงมาเกิดใหม่ ปัญหามีอยู่ว่า ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์ ย่อมหลุดพ้นวัฏสงสาร ไม่เกิดไม่ตายอีกต่อไป กริยาของท่านครั้งนี้ จึงไม่น่าเข้าข่ายทั้งอวตารและจุติ
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจึงแนะนำมาว่า แม้ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นนักการเมืองผู้เชี่ยวชาญด้านจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการค้าการขาย แต่เรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ท่านก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่น่าจะให้ความกระจ่างได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ส่วนท่านจะอธิบายว่าอย่างไรนั้น โอกาสหน้าคงได้นำมาเล่าสู่กันฟังครับ ...
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2555 หน้า 6 |
|
|
12 มี.ค. 55 / 22:37 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 2503 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
171.7.89.159
|
|
|
|