|
|
" ที่สุดแห่งโลก คืออะไร ?? " |
|
|
ในพระไตรปิฏกมีจารึกเอาไว้ว่า สมัยก่อนพุทธกาล มีมาณพหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ“โรหิตัสสะ” อยากจะรู้ความเป็นจริงของโลก ว่าที่สุดของโลกหรือที่สุดของจักรวาลอยู่ที่ไหน เมื่อเรียนจบศิลปวิทยาทั้ง ๑๘ สาขาแล้ว ก็พยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง โดยออกบวชเป็นฤาษี ตั้งใจฝึกสมาธิอย่างจริงจัง จนสามารถทำฌานสมาบัติให้เกิดได้ เป็นฤาษีที่มีฤทธิ์มีเดช สามารถเหาะเหินเดินอากาศไปได้ตามความปรารถนา เวลาจะไปแสวงหาอาหารและผลไม้ ท่านก็จะเหาะไปยังป่าหิมพานต์ หรือไม่ก็เหาะข้ามไปยังอุตตรกุรุทวีป แล้วก็กลับมาบำเพ็ญภาวนาต่อในมนุษย์โลก
ท่านฝึกทำสมาธิจนใช้งานได้แคล่วคล่อง นึกอยากไปไหนก็ไปได้ทันที เมื่อมีฤทธานุภาพมากแล้ว จึงตั้งใจว่าจะเดินทางไปให้สุดโลก ได้เข้าฌานสมาบัติ แล้วเหาะไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดพักในระหว่างทาง มีปีติสุขอยู่ในฌานเป็นภักษาหาร ไม่เหนื่อยไม่เมื่อยไม่ต้องเสียเวลานอนหลับพักผ่อน ท่านใช้เวลาเดินทางอยู่อย่างนั้น เป็นเวลานานถึง๑๐๐ ปี จากจักรวาลหนึ่งไปยังอีกจักรวาลหนึ่ง ถึงแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล ก็ยังไปไม่สุด
ลูกธนูที่นายขมังธนูยิงออกจากแล่ง ว่ามีความเร็วปานใด ท่านยังมีความเร็วยิ่งกว่านั้นเป็นแสนเป็นล้านเท่า แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่สามารถไปให้สุดจักรวาลได้ ต้องหมดอายุขัยลงในระหว่างทางนั่นเอง เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปบังเกิดในโลกสวรรค์ เป็นเทพบุตร ผู้มีรัศมีกายสว่างไสว
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลก โรหิตตัสสเทพบุตรได้ออกจากวิมาน มาถวายบังคมพระพุทธองค์ ซึ่งกำลังประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ได้กราบทูลถามปัญหาที่ค้างคาใจมานานว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีสถานที่ใด ที่ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายบ้างไหมหนอ ข้าพระองค์ได้เดินทางตลอดชีวิตเมื่อเป็นมหาฤาษี แต่ต้องตายเสียในระหว่างทาง ยังไม่สามารถเดินทางให้พ้นจากโลก พ้นจากภพได้เลย แล้วจะมีมนุษย์ที่สามารถไปให้ถึงที่สุดโลก ได้หรือเปล่า พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ท่าน เทพบุตร ที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่อาจไปได้ด้วย การเดินทางไกล ถ้าหากตถาคตยังไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่บัดนี้ ตถาคตบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางที่ให้ถึงความดับโลก ว่ามีอยู่ในเรือนกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ที่มีใจครองนี้”
ที่สุดแห่งโลก เป็นที่สุดแห่งทุกข์หรือ ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “โลกวิทู” แปลว่า “ผู้รู้แจ้งโลก” คำว่า โลก ในที่นี้ มีความหมายเป็น ๒ นัย คือ
นัยที่ ๑ “โลก” หมายถึงชีวิตร่างกายของเรา ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า
“... อาวุโส ในร่างกายซึ่งมีประมาณวาหนึ่ง มีพร้อมทั้งสัญญา พร้อมทั้งใจนี้แล เราบัญญัติโลกไว้ บัญญัติเหตุเกิดโลกไว้ บัญญัติความดับโลกไว้ และบัญญัติทางอันจะให้ถึงความดับโลกไว้ ”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงสภาพอันแท้จริงของชีวิตคนเราว่า ต้องมีความแก่เฒ่า เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องกระทบกับความเย็น ร้อน หิว กระหาย ประสบกับสิ่งที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ทรงบัญญัติเรื่องนี้ว่า “ทุกขอริยสัจ”
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงเหตุแห่งการเกิดของชีวิต ซึ่งทรงบัญญัติว่า “ทุกขสมุทัยอริยสัจ”
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงการหยุดเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ซึ่งทรงบัญญัติว่า “ทุกขนิโรธอริยสัจ”
ทรงรู้แจ้งแทงตลอดถึงวิธีปฏิบัติ เพื่อหยุดการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งทรงบัญญัติว่า “ทุกขนิโรธคามินีอริยสัจ” หรือ “มรรคอริยสัจ”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเรียก “นิโรธ” ว่า “ที่สุดแห่งโลก” ณ ที่สุดแห่งโลกนั้น ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องแก่ ไม่ต้องตาย บุคคลที่ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ย่อมไม่สามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ที่สุดแห่งโลกนั้นไม่สามารถไปถึงได้ด้วยยวดยานใดๆ ทั้งยังไม่ปรากฏว่า มีบุคคลอื่นใดจะพึงทราบ พึงเห็น พึงถึงที่สุดของโลกเลย แต่พระองค์นั้นทรงทราบชัดด้วยญาณทัสสนะอันเกิดจากการปฏิบัติธรรม และทรงถึงที่สุดแห่งโลกแล้ว ทรงอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว๒ ทรงสงบด้วยประการทั้งปวง มิได้ทรงหวังโลกนี้และโลกหน้าอีกเลย เพราะเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระนามว่า “โลกวิทู” คือ “ทรงรู้แจ้งโลก”
นัยที่ ๒ “โลก” หมายถึงโลก ๓ ซึ่งประกอบด้วย
๑) สังขารโลก หมายถึง ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
๒) สัตวโลก หมายถึง สัตว์ผู้ไปเกิดมาเกิดโดยอาศัยขันธ์ ๕
๓) โอกาสโลก หมายถึง โลกภายนอก คือ แผ่นดิน มหาสมุทร จักรวาลทั้งปวง ซึ่งสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยขันธ์ ๕ ก็อาศัยอยู่ในโอกาสโลกนี้อีกชั้นหนึ่ง
ที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้แจ้งโลก จึงหมายถึงการที่พระองค์ทรงรู้ถึงจริต อัธยาศัย อินทรีย์ กรรม ทิฎฐิ ธรรมอันทำให้เกิดแห่งสัตว์ทั้งหลายอย่างกระจ่างแจ้ง ทรงรู้ถึงลักษณะของขันธ์ ๕ อันเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ และแม้โครงสร้าง องค์ประกอบแห่งจักรวาล โลกภายนอกที่ล้อมรอบตัวเราอยู่ พระองค์ก็ทรงรู้อย่างสิ้นเชิง |
|
|
20 มี.ค. 55 / 02:44 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 2370 : discuss 1 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
110.168.73.70
|
|