[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" ‘พระดำรัส’ ว่าด้วยการจัดการน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา "
‘พระดำรัส’ ว่าด้วยการจัดการน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

ดังที่ทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนนั่นแหละครับว่า เรื่องมงคล ยิ่งพูด ยิ่งเป็นมงคล... สัปดาห์นี้จึงขออนุญาตต่อเนื่อง นำเรื่องมงคลที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่กระผมเพิ่งได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมมา

โครงการวิชาการเพื่อสาธารณะประโยชน์ ข้อเสนอของชุมชนว่าด้วยการจัดการน้ำ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1 “ถดถอย คอยที่ มีส่วนร่วม: ทางเลือกที่ไม่ง่าย”

จัดโดย นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ รุ่นที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เมื่อ วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 16.30 น. ณ ห้องประชุม กำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่กล่าวว่าเป็นเรื่องมงคล เนื่องด้วยนอกจากโครงการวิชาการนี้ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันทันยุคทันสมัย กำลังเป็นที่นิยม ถึงขั้นจัดกันอย่างดาษดื่น ทั้งโดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาชั้นสูง

โครงการวิชาการของนิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต คณะนี้ ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่ง กับการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดความเห็น

นอกเหนือไปจากการบรรยายพิเศษ โดยผู้มีอำนาจหน้าที่จากภาครัฐ เช่นเดียวกับ การอภิปราย โดยนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ อันเป็นประเพณีนิยมของเวทีวิชาการในบ้านในเมืองของเรา

ซึ่งโครงการนี้ก็มิได้ละเลย ทั้งยังสามารถเรียนเชิญ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรักษาการ เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ

ผู้มีอำนาจหน้าที่ ตัวจริงเสียงจริงของฝากฝั่งรัฐบาล ในขณะนี้ มาขึ้นเวทีเป็นครั้งแรก เพื่ออธิบาย แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของประเทศไทย ฉบับล่าสุด ได้อย่างกระชับ ชัดเจนยิ่ง

เช่นเดียวกับการอภิปรายเสริม โดย รองศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธันวา จิตต์สงวน นายแพทย์ วัฒนา เทียมปฐม และนายประเชิญ คนเทศ

ตลอดจนการระดมสมอง เพื่อเสนอประเด็นทางเลือก ว่าด้วยการจัดการน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในชุมชน อาทิ นายกมล เปี่ยมสมบูรณ์ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นายประเชิญ คนเทศ

ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วันทะนะ รองศาสตราจารย์ ดร.บัญชา ขวัญยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รวมถึง นายชัยนาท นิยมธูร

ร่วมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ติงสัญชลี นายเตชิด ชาวบางพรหม นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท ภาคประชาชน และนิสิต/นักศึกษา อีกกว่าร้อยชีวิต

เหนือสิ่งอื่นใด ความห่วงใย รวมถึงการเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการเปิดพื้นที่ เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มิใช่การกำหนดออกมาจากศูนย์กลาง หรือเป็นแต่เพียงการบรรยายสรุป กระทั่งการสักแต่เปิดเวทีเพื่อรับฟังข้อมูล

เป็นโครงการที่จัดขึ้นตามแนวพระดำริ ของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ที่ทรงเล็งเห็นถึงความไม่ง่ายของการแก้ไขปัญหา ใช่แต่จะจัดสิ่งของเครื่องยังชีพ เดินทางไปตามแจกกันตามแต่เหตุเภทภัย

ทั้งยังประทับอยู่ร่วมรับฟังตลอดโครงการ ตั้งแต่ 9 นาฬิกา ถึงกว่า 16 นาฬิกา และทรงมีพระดำรัสสรุป เป็นแนวทางว่าด้วยการจัดการน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดยาวประมาณ 1 หน้ากระดาษ ความดังนี้

“การจัดโครงการวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ข้อเสนอของชุมชนว่าด้วยการจัดการน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันนี้ เกิดขึ้นได้ก็ด้วยความตระหนักในปัญหาเรื่องการจัดการน้ำที่ภาคส่วนต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเท่าทัน

ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแทบทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายปี 2554 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2555 ที่ผ่านมา

การค้นหาแนวทางในการจัดการน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และต้องให้ความสำคัญกับภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการจัดการน้ำที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานของประชาชน และศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำของท้องถิ่น เป็นต้น อันจะส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพต่อไป

โครงการวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคสื่อมวลชน และที่สำคัญที่สุด คือภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในพื้นที่

มาปรึกษาหารือกัน บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกัน บนพื้นฐานของความตระหนักในปัญหาร่วมกัน และบนพื้นฐานของเหตุผล ตลอดจนมีการนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้อย่างรอบด้าน

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้แนวทางในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกัน โดยหยิบยกพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นพื้นที่นำร่อง

ซึ่งการปรึกษาหารือของภาคส่วนต่างๆ กว่า 6 ชั่วโมงที่ผ่านมา สามารถสรุปแนวทางการจัดการน้ำ ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ดังนี้

1. ในเชิงหลักการ ระบบบริหารจัดการน้ำต้องยึดหลักการระบบลุ่มน้ำ โดยใช้องค์ความรู้แบบสหวิทยาการ มอง “คน” เป็นศูนย์กลาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมไปถึงการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ มาร่วมบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

2. ภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมกันเปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อป้องกันความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่อาจจะเกิดขึ้นได้

3. การแก้ไขในเชิงรูปธรรม เบื้องต้น กลไกของรัฐต้องเข้าร่วมพื้นที่สาธารณะให้มากที่สุด เพื่อรวบรวมและนำเสนอข้อมูล เพื่อการวางแผนการจัดการน้ำอย่างรอบด้าน สมดุล และจัดให้มีระบบการเตือนภัยที่น่าเชื่อถือ

4. ในระยะยาว ต้องสร้างกระบวนการจัดการความรู้ ในเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ให้กับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาสายน้ำของชุมชนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น น้ำเสีย น้ำแล้ง น้ำหลาก น้ำท่วมขัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางการจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ เป็นเสมือนร่างข้อเสนอของชุมชน ว่าด้วยกรจัดการน้ำ

และถือว่าเป็น การประชุมวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ครั้งที่ 1 เท่านั้น หากเป็นไปได้ คณะนิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ รุ่นที่ 1

จะนำข้อเสนอดังกล่าว ประสานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อปรึกษาหารือ รับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และนำไปสู่การหาข้อสรุปในเชิงนโยบายต่อไป

ในนามของ นิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ รุ่นที่ 1 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่มาให้ความรู้ และร่วมปรึกษาหารือกันอย่างมีเหตุมีผล มีความเสมอภาค

ตลอดจน ขอให้ข้อเสนอแนวทางการจัดการน้ำ ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในครั้งนี้ ได้รับการพัฒนาต่อ จนนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”

แม้กระผมจะมิได้เป็นทั้ง ผู้มีภูมิลำเนาในบริเวณดังกล่าว และผู้ประสบภัยน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา แต่ไม่ว่าจะฟัง หรืออ่านพระดำรัสของพระองค์ท่านอีกสักกี่หน ก็ให้นึกซาบซึ้งในพระเมตตา ที่ทรงมีต่อพสกนิกรมิได้

หยดน้ำตาแห่งความปิติ น่าที่จะไม่แปลเปลี่ยนไปเป็น หยาดน้ำตาแห่งความโศกเศร้า หากเรื่องมงคลเช่นว่านี้ จะได้รับการสานต่อย่างจริงจัง และเหนือสิ่งอื่นใด จะได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากทุกภาคส่วนของสังคมไทย โดยแท้จริง

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2555 หน้า 6
27 มี.ค. 55 / 23:48
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 1950 : discuss 1 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 27.130.80.86

#1# - 672260 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] ดูเหมือนจะมีปัญหาราชาศัพท็นิดหน่อย
28 มี.ค. 55 / 03:37
0 0
jaguar [icon smile : 92 bytes] (6859) : n/a : n/a : n/a
followup id 672260 115.87.33.220


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]