|
|
" ความพ่ายแพ้ของขบวนการวาทกรรมว่าด้วย 'สิ่งแวดล้อม' (3) " |
|
|
ความพ่ายแพ้ของขบวนการวาทกรรมว่าด้วย 'สิ่งแวดล้อม' (3)
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
คิดไปคิดมา ชาติ หรือ Nation ในภาษาอังกฤษ ก็มีส่วนที่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network คล้ายคลึงอยู่ไม่น้อย
คล้ายคลึงกันในแง่ที่ว่า เป็นสิ่งซึ่งคนยุคนี้สมัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชั้นกลางในเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ (ถูกทำให้ ?) คุ้นชิน ประหนึ่งว่าทั้งคู่ต่างมีมานานนม
ตั้งแต่ครั้งพระผู้เป็นเจ้า ทรงเนรมิตผืนดิน ผืนน้ำ ผืนฟ้า กลางวัน กลางคืน พันธุ์ไม้ สรรพสัตว์ รวมถึง บรรพบุรุษ/บรรพสตรีของมนุษยชาติ อดัม กับอีฟ
ทั้งที่เอาเข้าจริง สิ่งแรกเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองระหว่างประเทศ อันเป็นผลจากการเรียนรู้ที่จะดำรงตน อยู่ในสภาวะของความรุนแรงและการแข่งขัน อายุอานาม ส่วนใหญ่ก็หลักร้อยสองร้อยปีกันทั้งนั้น
เมืองไทยของเรา แม้นักวิชาการจะยังเถียงกันไม่จบ บางคนก็ยึดห้วงเวลาเริ่มต้นของกระบวนการ บางคนก็ยึดห้วงเวลาสำคัญของกระบวนการ บางคนก็ยึดห้วงเวลาสูงสุดหรือจุดแตกหักของกระบวนการ
บวกลบคูณหารแล้ว ไม่ว่าจะคิดเริ่มตั้งแต่การสถาปนาพระสยามเทวาธิราช ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นโยบายชาตินิยมเข้มข้นของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเข้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
หรือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก็ยังเป็นเรื่องของคนเพียงไม่กี่ชั่วคน ใช่ชั่วฟ้าดินสลายที่ไหนกัน
สิ่งหลังยิ่งไปกันใหญ่ ขอเพียงตั้งสติกันให้ดี ไม่ต้องร้อนถึงร่างทรงแต่อย่างใด เพราะเครือข่ายสังคมออนไลน์ในยุคต้นๆ อาทิ จีโอซิตี้ เดอะโกลบ หรือไตรพอด เพิ่งเริ่มเปิดบริการกันราวต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 นี่เอง
ยี่ห้อที่คนไทยคุ้นเคย อย่าง ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก ยิ่งแล้ว อายุอานามแค่พอให้ผู้ปกครอง จูงมือไปสมัครเข้าเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เท่านั้น
อาจจะกล่าวได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก ว่าเป็นผู้ที่ทันยุคทันสมัย แต่ถ้าเอาทวิตเตอร์เป็นเกณฑ์ ก็คงจะพอเดินยืดอกได้เหมือนกัน เพราะกระผมถือเป็นกลุ่มแรกๆ ของประเทศไทย ที่สมัครเป็นสมาชิกของโซเชียลเน็ตเวิร์คนี้
ใช่ว่าอยากจะแชทกับแหม่มที่ไหนดอกครับ แต่เพราะกระแสข่าวขณะนั้น เกี่ยวกับการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้ เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศอิหร่าน ถึงขนาดมีการเรียกขานว่าเป็น ปฏิวัติทวิตเตอร์ กันเลยทีเดียว
นอกจากความโด่งดัง ขนาดนิตยสารไทม์ ยังต้องตีพิมพ์ลงบนหน้าปก ว่า Why Everyones Talking about Twitter แล้ว
มาร์ค เฟเฟิล ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ยังยกย่องผ่าน ฟ็อก นิวส์ สำทับถึงความสำคัญของช่องทางการสื่อสารใหม่นี้ ว่า
ถ้าจะมีใครได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งหน้า ก็คงเป็นทวิตเตอร์ เพราะมีการทวิตเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยในอิหร่านมากมาย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ความสำเร็จ รวมถึงการยกย่องขนานใหญ่ทั่วโลกเช่นนี้ กลายเป็นกระแสที่ทำให้นักเคลื่อนไหว ไม่เพียงแต่ในทางการเมือง ยังครอบคลุมมิติอื่นๆ ซึ่งก็แน่นอน นับรวมสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย
ผันตัวจากการใช้ยุทธวิธีดั้งเดิม อย่างการเดินขบวน ปิดถนน อดอาหาร สารพัดที่จะคิดทำ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้อง ต่อรอง ตลอดจนกดดัน รัฐบาล หรือผู้มีอำนาจ ให้กระทำหรืงดเว้นการกระทำใดๆ
มาสู่การใช้สื่อออนไลน์ ที่นักวิชาการ นักวิชาชีพ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนหนึ่งในเมืองไทย เพิ่งร่วมกันออกปากยกย่องเป็นลายลักษณ์อักษร ว่า สื่อออนไลน์: Born to be Democracy
ยุทธวิธีที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วในระดับโลก ว่าสามารถปลุกกระแสให้ประชาชนชาวอิหร่าน ลุกขึ้นจากที่นอนนุ่มๆ มุ่งสู่ท้องถนนอันร้อนระอุทั่วกรุงเตหะราน เพื่อประท้วงต่อการใช้อำนาจเผด็จการของผู้ปกครอง
เมื่ออาหารสัญชาติอิตาเลียน อย่างพิซซ่า เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เข้ามาขายในเมืองไทย ก็มีเหตุให้ต้องกลายพันธุ์ เป็นพิซซ่าหน้าต้ำยำกุ้งบ้างหละ หน้าแกงเขียวหวานบ้างหละ หน้าลาบ หน้าต้มข่า หน้าพะแนง สารพัด ฉันใด
ยุทธวิธีที่เคยประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงมาแล้ว แม้ในประเทศเผด็จการอย่างอิหร่าน จึงมีเหตุให้ต้องกลายพันธุ์ ฉันนั้น
เพียงแต่การกลายพันธุ์ในกรณีแรก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุทธวิธี กล่าวคือเครื่องปรุงรส เพื่อมุ่งบรรลุวัตถุประสงค์ กล่าวคือความอิ่มท้อง ภายใต้ยุทธศาสตร์เดิม
แต่การกลายพันธุ์ในกรณีหลัง กลับยึดถือยุทธวิธีเดิม กล่าวคือการทวิต การกดไลค์ การคอมเมนต์ การแชร์ เป็นสรณะ
ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าวัตถุประสงค์ กล่าวคือ การตัดสินใจเปลี่ยนแปลง ว่าจะกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดๆ ของรัฐ ตามยุทธศาสตร์เดิม จะบรรลุผล
สิ่งซึ่งปรากฎตำตาตำใจเราๆ ท่านๆ อยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นการต่อสู้ของนักเคลื่อนไหว ที่หลงยึดสื่อออนไลน์ ยึดทวิตเตอร์ ยึดเฟซบุ๊ก เป็นดังทุกสิ่งทุกอย่าง แทนที่จะใช้มันในฐานะที่เป็นเพียงเครื่องมือ
ภาพที่เคยเกิดขึ้นในอิหร่าน ภายหลังการติดต่อสื่อสารระหว่างกันถูกตัดขาด ประชาชนที่พยายามเคลื่อนไหวต่อสู้ จึงมุ่งหน้าสู่ท้องถนน
พร้อมกันกับการใช้ทวิตเตอร์ แชร์เรื่องราวต่างๆ เพื่อตีแผ่การใช้อำนาจเผด็จการของรัฐ เหตุการณ์ความรุนแรง รวมถึงการละเมินสิทธิมนุษยชน ให้ทั่วโลกได้รับรู้
ถึงวันนี้ เชื่อแน่ว่าจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยหรอกครับ ประเทศที่นักเคลื่อนไหวทั้งหลาย ยังคง ติดกับดัก ของเทคโนโลยี
หลงอยู่กับการประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำ วิธีการเท่ห์ๆ แชร์คำพูดชิคๆ ของคนนั้นคนนี้ หรือแม้แต่การติดป้าย No Dam คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ บนรูปในเฟซบุ๊ก
เพราะถ้ากระผมเป็นรัฐบาล คงจะกลัวแย่... ไม่ได้กลัวว่าจะเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่องดอกนะครับ... กลัวเลิก !!!
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2555 หน้า 6. |
|
|
08 พ.ค. 55 / 23:53 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 1612 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
14.207.214.119
|
|