|
|
" ความพ่ายแพ้ของขบวนการวาทกรรมว่าด้วย 'สิ่งแวดล้อม' (4) " |
|
|
ความพ่ายแพ้ของขบวนการวาทกรรมว่าด้วย 'สิ่งแวดล้อม' (4)
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่เหนี่ยวรั้งให้แวดวงวิชาการ ของสารขัณฑ์ประเทศแห่งนี้ ยังแน่วแน่ที่จะตามก้นฝรั่งตาน้ำข้าว ก้าวไปไหนไม่ได้ไกลเช่นนี้
หลายท่านเชื่อว่า เกี่ยวโยงอยู่กับวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ปลูกฝังต่อๆ กันมา จนเป็นที่ยึดถือปฏิบัติ กระทั่งปรากฎอยู่ในเพลงชาติ ว่า ไทยนี้รักสงบ
จะให้วิพากษ์วิจารณ์ ถก หรือเถียงกับใคร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ได้ไม่ง่ายนัก เพราะทันทีที่การกล่าวถึงบุคคลที่ 3 ยกฐานะจากการนินทากันในพื้นที่ส่วนตัว
ไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ ถก หรือเถียงในพื้นที่ ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึง วัฒนธรรมทางการเมือง ว่าด้วยการ ถึงรบไม่ขลาด ก็จะพลันเดือดดาล ขึ้นในจิตใจของผู้ถูกพาดพิง โดยทันที
นับเป็นข้อเท็จจริงที่น่าสลด เมื่อการวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกันในสังคมแห่งนี้ จะหมายถึงแต่เฉพาะ การดูถูกเหยียดหยาม การทะเลาะเบาะแว้ง การหาเรื่องท้าตีท้าต่อย การแกว่งเท้าหาเสี้ยน การแกว่งปากหาร้องเท้า
กระทั่ง การเป็นขั้วตรงกันข้าม ต่างสี เป็นศัตรูคู่อาฆาต โดยไม่มีพื้นที่แม้เพียงเล็กน้อย สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ ถก หรือเถียงอย่างสร้างสรรค์ การติเพื่อก่อ หรือพฤติกรรมและคำพูดอื่นใด ในทำนองเดียวกัน
ความเจริญงอกงามในทางวิชาการ อันพึงเกิดขึ้นตามสมควร จากกิจกรรมเช่นว่านี้ แทนที่จะเติบใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขา จึงกลับแคระแกร็น ไม่มีดอก ไม่มีผล
เกือบทั้งหมดของ บทวิจารณ์หนังสือ หรือบทวิจารณ์บทความ ท้ายวารสารวิชาการนับเป็นพันฉบับ ที่จัดพิมพ์ในแต่ละปีๆ
จึงทำหน้าที่เป็นแต่เพียง บทแนะนำหนังสือ ว่าเล่มนี้ดีอย่างนั้น เรื่องนั้นประเสริฐอย่างนี้ ควรจะสละสตางค์ในกระเป๋า ควักออกมาซื้อเก็บไว้เป็นสมบัติ ประดับบารมีกับเขาบ้าง ส่วนจะเปิดอ่านหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ความศรัทธา
จะให้จั่วหัวเปิดฉาก ว่าหนังสือเล่มนี้ เป็นข้อเขียนที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง บทความชิ้นนี้ สะท้อนภูมิปัญญาอันบกพร่องของผู้เขียน หละก็ เห็นทีจะต้องนอนฟันไปพลางๆ ก่อน
กระผมเอง เขียนบทความชุด ความพ่ายแพ้ของขบวนการวาทกรรมว่าด้วย สิ่งแวดล้อม ต่อเนื่องมาตั้งแต่ อังคารสุดท้ายของเดือนเมษายน ถึงสัปดาห์นี้ ก็ล่วงเลยมาเป็นตอนที่ 4 ตอนสุดท้ายแล้ว
อันที่จริง ภายหลังจากการเกริ่นนำเข้าสู่ประเด็น ในตอนที่ 1 การกล่าวถึงยุทธวิธีของขบวนการ ในตอนที่ 2 และการโฟกัสไปที่การใช้สื่อออนไลน์ ในตอนที่ 3 ก็ตั้งใจไว้ว่า จะพักเรื่อง เขื่อนแม่วงก์ นี้ไว้สักหน่อยก่อน
แต่ด้วยข้อคอมเม้นท์ในเฟสบุ๊คนั่นเอง จาก คนอนุรักษ์ และ สุขสริตร จันทบุตร เกี่ยวกับจุดยืนของกระผม ต่อเรื่องนี้ รวมถึง สารที่พยายามสื่อ วันนี้จึงต้องวนกกลับมา เพื่อ... จัดไปครับ
สำหรับข้อแรก ไม่ต้องสงสัยแต่ประการใด เพราะไม่ว่าจะ ยืนยัน นั่งยัน เดินยัน นอนยัน แม้แต่ ตีลังกายัน ก็ได้ทั้งนั้น ว่าด้วยเงื่อนไข ณ ขณะนี้ กระผมนับเป็นหนึ่งในแนวร่วม ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ อย่างไม่ต้องสงสัย
ใช่จะหลงไหลได้ปลื้ม หรือคลั่งไคล้ธรรมชาติ จนออกนอกหน้าดอกนะครับ แต่ลำพังเหตุผลและ/หรือคำอธิบายฝืดๆ ของทั้งรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุน
ต้องยอมรับว่า ยังมิอาจโน้มน้าวให้กระผม ในฐานะพลเมือง เจ้าของอำนาจอธิปไตยของประเทศแห่งนี้ คล้อยตาม กระทั่งยินยอมที่จะสละผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ให้จมน้ำไปอีกหนึ่งแห่ง
เพราะเท่าที่ชี้แจงกันมาเดือนกว่าๆ นี้ ก็ยังไม่เห็นจะปลงใจได้สักที ว่าการมีหรือไม่มีเขื่อนขนาดเล็กเขื่อนนี้ จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหรือน้ำไม่ท่วม มากน้อยแตกต่างกันอย่างไร
จะเที่ยวมาชี้แจงกันเลื่อนเปื้อน ว่าสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมทีหนึ่ง แก้ปัญหาน้ำแล้งทีหนึ่ง เช่นนี้ เห็นจะไม่ค่อยเข้าท่าละครับ
อย่างไรก็ดี ในฐานะ รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้งของประชาชน อำนาจในการตัดสินใจ ดำเนินการเรื่องแบบนี้ จึงจัดอยู่ในข่ายที่พึงกระทำได้ โดยถูกต้อง
หน้าที่การทัดทานโต้แย้ง หากพิจารณาเห็นแล้ว ว่าการตัดสินใจดังกล่าว ไม่เหมาะไม่ควร จึงตกเป็นของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชน อย่างกระผม อย่างมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร อย่างคนอนุรักษ์ และคุณสุขสริตร จันทบุตร
ส่วนของพรรคฝ่ายค้าน ชั่วโมงนี้ เข้าใจว่าหมดสภาพไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อทั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ตลอดจนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล
เรียนรู้ที่จะใช้อุบายเดียวกัน คือ สงบสยบเคลื่อนไหว พูดให้น้อย เถียงให้น้อย ถึงเวลาโหวต สอดบัตรแล้วลงคะแนนกันให้พรึบ แค่นี้ก็พอ... เอาอยู่
เช่นเดียวกัน สารที่พยายามสื่อ ตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเป็นการตอกย้ำ ว่ากระผมรู้สึกด้วยตนเอง ว่างานนี้ เห็นที่จะฝากความหวัง ไว้กับบรรดา นักรบเฟสบุ๊ค ไม่ได้
ด้วยเหตุว่า ลำพังการกดไลค์ การคอมเมนท์ หรือการแชร์ ในโลกเสมือนจริง มันไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง
ทั้งนี้ แม้จะได้รับการอบรมสั่งสอน เกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ มาไม่มากนัก แต่ก็พอที่จะพิจารณาด้วยตาได้ ว่าถ้าเข้าอีหรอบนี้ คงพากันฉิบหายแน่ครับ
ท่องตำราฝรั่งกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ยอมทำความเข้าใจ ว่าสิ่งแวดล้อมที่ห่อหุ้มการเคลื่อนไหวดังกล่าวอยู่นั้น มันแตกต่างกันชนิดหน้ามือหลังเท้า
เขียนเช่นนี้ ใช่จะบอกว่าเรามีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนดอกนะ แค่จะเตือนสติกันอีกสักครั้ง ว่าแม้ผู้มีอำนาจที่ไหนๆ ก็อาจบ้าอำนาจได้เหมือนๆ กัน แต่ผู้มีอำนาจแต่ละคนนั้น ยังคงมียางอายที่ไม่เท่ากัน
การจะอ้างว่า ด้วยยุทธวิธีเช่นนี้ ที่หนึ่งๆ เคยใช้งานได้ผล ที่อื่นๆ ก็ย่อมได้ผลด้วยนั้น... ไม่ได้ ได้โปรดอย่าหลอกตัวเองอีกต่อไปเลย
ออกมาพิสูจน์ให้เห็นกันอีกครั้งเถิดครับ ว่านักอนุรักษ์ยังไม่ตาย ยังมีลมหายใจ และพร้อมที่จะปกป้อง ต้นกระบากอายุร่วม 200 ปี ขนาด 6 คนโอบ รวมถึงผืนป่า ที่อยู่อาศัยของกวางและเสือ ที่เริ่มปรากฎแล้วในพื้นที่
ด้วยความหวัง ว่าภาพที่ยกโขยง เดินทางไปถ่ายมาเองกับมือเหล่านี้ จะมิใช่บันทึกความทรงจำสุดท้าย ของ แก่งลานนกยูง ที่ทั้งกระผม และทุกท่าน จะมีโอกาสได้เห็น...
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2555 หน้า 6. |
|
|
14 พ.ค. 55 / 08:31 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 1520 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
158.108.15.22
|
|