|
|
" ว่าด้วยเรื่องของ ความรู้สึก " |
|
|
ว่าด้วยเรื่องของ ความรู้สึก
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
ช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระผมและทีมงาน มีกำหนดลงพื้นที่ เพื่อสำรวจและจัดทำแผนที่ชุมชน ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ส่วนหนึ่งของโครงการ ตำบลเตรียมพร้อม สืบเนื่องจากพระดำริใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
เมื่อครั้งที่ทรงมีพระดำรัสสรุป โครงการวิชาการเพื่อสาธารณะประโยชน์ ข้อเสนอของชุมชนว่าด้วยการจัดการน้ำ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งที่ 1 ถดถอย คอยที่ มีส่วนร่วม: ทางเลือกที่ไม่ง่าย
โดยคณะนิสิต หลักสูตรปรัชญาดุษฑฎีบัณฑิตสาขาวิชาสังคมศาสตร์ รุ่นที่ 1 คณะสังคมศาสร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ด้วยความร่วมือของ โครงการสิงห์ดำร่วมสู้ฟลัด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสา เพื่อผู้ประสบภัย (สวนโมกข์ กทม.) และ องค์การบริหารส่วนตำบล ลานตากฟ้า
ภายใต้การสนับสนุนจาก กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เป็นสำคัญ
การจัดเวทีชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และแผนบริหารจัดการของรัฐบาลในปัจจุบัน รวมถึงเวทีระดมสมองระหว่างประชาชนในพื้นที่ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ วันจันทร์ที่ 7 แล้วเสร็จวันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม
ขณะนี้ อยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่ในเชิงคุณภาพ เพื่อจัดทำข้อมูล และแผนที่ชุมชน สำหรับจัดทำแผนเตรียมพร้อมของชุมชนต่อไป ลงพื้นที่ครั้งแรกไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 และเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม ตามลำดับ
ทั้งนี้ นอกเหนือจากอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง ที่ฝังตัวเก็บข้อมูลอยู่ในพื้นที่แล้ว กำหนดการปูพรม เก็บตกข้อมูลที่เหลือทั้งหมด จะมีขึ้นอีกครั้ง ในวันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน ที่กำลังจะมาถึง
วันเสาร์ที่ผ่านมานี้ นิสิตรุ่นพี่ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรม เปิดถ้ำสิงห์ เพื่อต้อนรับนิสิตรุ่นน้อง น้องใหม่ สิงห์เขียว รุ่นที่ 38
แม้ว่ากิจกรรมเทือกนี้ จะเป็นสิ่งนอกสายตา ซึ่งกระผมหลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วม มาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ไม่เคยออกหน้า เปิดฉากโจมตี ให้ขัดเคืองน้ำใจ เรียกว่าต่างคนต่างอยู่กันมานาน
กระทั่ง 2 ปีหลังนี้ ที่ไม่สามารถยับยั้งจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกในทางต่อต้าน ต่างที่ปีที่แล้ว เขียนเพียงแต่เป็นเค้าโครงไว้ ไม่ได้นำส่งลงตีพิมพ์ แต่เห็นทีปีนี้ จะต้องสะกิดเตือนกันผ่านสื่อดูบ้าง เผื่อรุ่นน้องๆ ต่อไป จะได้หวนตรึกตรอง
สันนิษฐานในแง่ดี ว่าน้องๆ ที่รับหน้าที่เป็นผู้จัดกิจกรรม อาจไม่ทันได้คิดให้ลึกซึ้ง กิจกรรมสันทนาการเมื่อปีที่แล้ว จึงขึงแบ็คดร็อปตัวเท่าหม้อข้าวหม้อแกง ว่า ยินดีต้อนรับสู่ นรก สันทนาการ อก. มน. สค.
ถ้าท่านที่ผ่านไปผ่านมา มิได้สักแต่ว่ามองผ่าน ก็ย่อมที่จะเกิดคำถามขึ้นภายในจิตใจ ว่า นรก ที่ว่าเนี่ย มันที่ไหน ? ที่นี่หรอ ? หรือไง ? เขาต้อนรับใคร ? และใครเป็นคนต้อนรับ ? ต้อนรับทำไม ?... บลา บลา บลา...
ทันทีที่เห็นข้อความเหล่านี้ ความรู้สึกที่ยังพอจดจำในวันนั้น คือหงุดหงิด หงุดหงิดกับความอ่อนด้อยในการใช้สติของรุ่นน้องๆ ในการไตร่ตรองสิ่งที่จะกระทำ สิ่งซึ่งทุกๆ คนต้องร่วมกันรับผิดชอบผลของการกระทำ
งานที่ว่านี่ เขาจัดกันอย่างเปิดเผย ที่ลานคณะสังคมศาสตร์ ใจกลางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ป้ายผ้าที่แขวนขึ้นบดบังป้ายคณะ จึงไม่อาจตีความเป็นอื่น
ว่านรกที่เขียนไว้นั้น ก็คือ คณะสังคมศาสตร์ ในความหมายอย่างแคบ หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในความหมายอย่างกว้าง
แม้กระผมจะเป็นศิษย์เก่าแหกคอก ผู้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไอ้เรื่องรักชาติคลั่งสถาบัน ไม่มีอย่างรุ่นพี่ๆ น้องๆ แต่ก็ให้อดรู้สึก ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร
พลอยให้คิดว่า หากกระผมเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่นิยมมานั่งเฝ้าบุตรหลาน ในวันเข้าร่วมกิจกรรมแรกๆ ของการเป็นนิสิต/นักศึกษามหาวิทยาลัย คงจะตัดสินใจ จูงมือเขากลับบ้านทันที
เพราะนอกจากจะรู้สึกว่า นรกไม่ใช่สถานที่อันพึงประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการศึกษาเล่าเรียนแล้ว มันยังสะท้อนให้เห็น ถึงความบกพร่องของสถาบัน ที่ไม่สามารถสร้างให้ผลผลิตของตน มีวุฒิภาวะในระดับที่เหมาะสม
ก็เข้าใจครับ ว่าคนเรามันผิดกันได้พลาดกันได้ เมื่อปีที่แล้ว กระผมจึงสงบจิตสงบใจ และปล่อยความรู้สึกดังกล่าว ไปกลับสายลม เก็บไว้เพียงรูปถ่าย เพื่อเตือนใจในความผิดพลาดดังกล่าว
พอมาปีนี้ ไม่คิดไม่ฝันจริงๆ ว่าความผิดพลาดดังกล่าว มันจะกลัมาหลอกมาหลอนอีกครั้ง จากเดิมที่เป็นกิจกรรมของส่วนกลางคณะ คราวนี้สโคปถูกย่อลง เหลือแต่เพียงระดับภาควิชา และเป็นภาควิชาของกระผมเสียด้วย รัฐศาสตร์ฯ
ไม่เล็กไม่ใหญ่กว่าปีที่แล้วเท่าใดนัก สำหรับขนาดตัวอักษร แค่แปลงจากนรกเฉยๆ มาเป็น ถ้ำนรก ด้วยคำถามเดิมเลยครับ ว่าถ้ำนรกที่ว่าเนี่ย มันถ้ำอะไร ? มีไว้ทำไม ? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกิจกรรมเปิด ถ้ำสิงห์
หมายความว่า ถ้ำนรก ก็คือถ้ำสิงห์ ? ถ้ำสิงห์ ก็คือถ้ำนรก ถ้ำเดียวกัน ? มันจะดีหรอครับ หรือว่ามันเป็นสิ่งซึ่งแฝงฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เป็นความรู้สึกลึกๆ ต่อสถาบัน
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คงต้องรบกวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าดูแลแก้ไข ขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ดูท่าจะไม่เวิร์คครับ ไม่ใครก็ใครหละ จูงมือบุตรหลาน เดินตามกระผมออกมาแน่นอน
ขยับจากความรู้สึกส่วนตัว มาว่ากันต่อเรื่องความรู้สึกส่วนรวมดูบ้าง ถ้ายังพอจะจำกันได้ หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการออกมาโจมตีรัฐบาล เรื่องข้าวของเครื่องใช้ ว่ามีราคาแพงหูฉี่
เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องออกมาให้สัมภาษณ์แก้เกมส์ และสื่อมวลชนนำออกเผยแพร่ ว่านายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเพราะอากาศมันร้อน ประชาชนจึง รู้สึก ไปเอง
เรื่องนี้ในระดับหนึ่ง มีการออกมาชี้แจงอีกครั้ง ของนายกรัฐมนตรี ว่ามิได้เจตนาจะสื่อความเช่นนั้น การตัดต่อของสื่อมวลชน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งข้อนี้เราๆ ท่านๆ ก็ทราบ ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น (โดยตั้งใจ !) เป็นประจำ
แต่ต้องยอมรับครับว่า ข้อความที่นายกรัฐมนตรีกล่าวนั้น แม้จะมิได้ถูกต้องทั้งหมด แต่กระผมยืนยันครับ ว่ามันไม่ผิด แน่นอน
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหนึ่ง อาจมองว่า ของแพง หมายถึงสินค้าที่มีราคา
สูงขึ้น สูงขึ้นจากอะไร สูงขึ้นจากราคากลางเฉลี่ย ที่ใช้อ้างอิง หรือดำรงอยู่ก่อนหน้า เรียกว่าราคาสิ้นค้าพุ่งสูงขึ้น มันก็คือของแพงนั่นเอง
เคร่งครัดหน่อยลงมาหน่อย ของแพง อาจหมายถึง สินค้าที่มีราคาสูงกว่าอรรถประโยชน์สุดท้าย พูดง่ายๆ ก็เช่นเดียวกับที่ จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ บุตรชายคนเล็กของ รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
เขียนลงหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับล่าสุด ประจำวันที่ 18-24 พฤษภาคม หน้า 79 ว่า คำว่าแพง ไม่ได้หมายความว่าราคาสูง แต่หมายความว่าสิ่งที่ได้มาไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปต่างหาก
แต่ตามความติดของกระผม ของแพง เป็นเรื่องของ ความรู้สึก ความรู้สึกซึ่งมีความสัมพัทธ์อย่างยิ่ง พูดเช่นนี้หลายท่านอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ ยกตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ ดีกว่าครับ
หลายวันก่อน สิงห์หนองจอก พาพวกกระผมไปเลี้ยงอาหารญี่ปุ่น (เช่นเคย) สำหรับสิงห์หนองจอก มีความรู้สึกว่าราคาบุฟเฟ่ต์นี้ ช่างเป็นมิตร และทำให้พวกเราทานได้อย่างสบายอกสบายใจ ที่สำคัญ สำบายกระเป๋าสตางค์อย่างไม่น่าเชื่อ
ตรงกันข้ามกับน้องใหม่ในทีมงานคนหนึ่ง ซึ่งยอมรับว่าเพิ่งมีโอกาสเข้ามาทานอาหารในร้านนี้ เป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาเพียงแต่เดินผ่าน และมองขึ้นมาเท่านั้น เพราะมีความรู้สึกว่า ราคาแพงเหลือเกินสำหรับเขา
ทั้งที่ราคาซึ่งทางร้านเรียกเก็บจากลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสิงห์หนองจอก หรือน้องใหม่คนนั้น จะเป็นราคาเดียวกัน แต่ทั้งสอง กลับมีมุมมองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนหนึ่งว่าถูกเหลือเกิน คนหนึ่งว่าแพงจนทานไม่ได้
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างคน 2 คนไปแล้ว หากยังมีคำถาม ว่าก็คนหนึ่งรวย คนหนึ่งจน จะให้คิดเหมือนกัน คงไม่ได้กระมัง ก็เลยจะขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ระหว่าง 2 สถานที่ แต่เป็นคนเดียวกัน
ขณะนี้ เพื่อนสาวของกระผม อยู่ระหว่างศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย ร้านอาหารญี่ปุ่นร้านเดียวกันนั่นหละครับ สำหรับเพื่อนสาวคนนี้ เรียกว่าราคาอยู่ในเกณฑ์ทานได้ แต่จะให้ทานทุกวัน ต้องขอคิดดูก่อน
เดินทางไปเรียนและใช้ชีวิตอยู่ในซิดนีย์ เพียงไม่ถึงปี ทานข้าวไข่เจียวจานละ 12 เหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็เกือบ 400 บาท เท่าๆ กับราคาบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นที่ว่า ความรู้สึกต่อราคาดังกล่าว ก็เปลี่ยนแปลงไป
กลับมาเมืองไทยคราวก่อน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ กระผมจำต้องทานอาหารญี่ปุ่นในร้านดังกล่าว แทบทุกวัน เพราะเธอรู้สึกว่า ราคามันแค่ข้าวไข่เจียวจานเดียวเท่านั้นเอง
คิดได้ดังนี้ ต้องขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีครับ ว่าไอ้ที่ท่านกล่าวมานั้น มันถูกต้องทีเดียว ราคาจะถูกจะแพง ส่วนหนึ่ง หรืออันที่จริง น่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป ว่ามันเป็นเรื่องของความรู้สึกของผู้ที่จะต้องควักกระเป๋าสตางค์จ่าย
ฉะนั้น แทนที่กระทรวงพาณิชย์ จะใช้นโยบายควบคุมราคาสินค้า เพื่อให้มันมีราคาไม่แพง ตามความหมายที่หนึ่งแล้ว รัฐบาลควรจะหาแนวทาง เพิ่มสตางค์ในกระเป๋าของประชาชน ให้พอมีพอใช้ น่าจะเข้าท่ากว่าครับ
เพราะแม้ราคาจะสูงขึ้น แต่รายได้ก็สูงขึ้นตาม เช่นนี้ ชาวบ้านเขาจ่ายได้ ไม่รู้สึกหรอกครับว่าแพง แต่ถ้าควบคุมราคาได้เป็นครั้งคราว ขึ้นบ้างคุมบ้าง แต่รายได้ไม่เพิ่ม หรือเพิ่มในอัตราส่วนที่น้อยกว่า เช่นนี้ ตายแหงๆ ครับ...
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2555 หน้า 6 |
|
|
22 พ.ค. 55 / 22:25 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 2172 : discuss 0 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
14.207.169.249
|
|