|
|
" ว่าด้วยการแก้ไข รัฐธรรมนูญ และ งาน เกษตรแฟร์ " |
|
|
ว่าด้วยการแก้ไข รัฐธรรมนูญ และ งาน เกษตรแฟร์
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
นอกจากความรับผิดชอบ ต่อผู้อ่าน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในการหยิบจับประเด็นต่างๆ มากระตุ้นเตือน พอให้สมองได้ฉุกคิด กันเป็นประจำทุกวันอังคารแล้ว
มาปีนี้ กระผมยังได้ความไว้วางใจ มอบหมายให้ทำหน้าที่ บริหารจัดการวารสารวิชาการ งอกขึ้นมาอีกถึง 2 ฉบับ... เรียกว่ายังยุ่งไม่พอกระมังครับ
เนื่องด้วยวารสารทั้ง 2 ฉบับ เพิ่งออกเป็นปฐมฤกษ์ทั้งคู่ บทความเบ็ดเสร็จกว่า 20 เรื่อง จึงมีที่มาจากการประสาน เกือบทั้งสิ้น ตั้งแต่ ทราบอยู่ก่อนว่ามีจึงขอ ฝากถามๆ กันไปให้ส่งมา บีบคอขอแรง กระทั่งปลุกปั้นนั่งสอนกัน ก็มี
จนแล้วจนรอด บทความพิเศษเอย บทความวิชาการเอย บทความวิจัยเอย กระทั่งบทวิจารณ์บทความ ก็เข้าคิวกันมาจนครบ ขาดแต่บทวิจารณ์หนังสือ งานนี้ จึงต้องลงมือจัดการเสียเอง
หลักรัฐศาสตร์ ของ รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 คือหนังสือเล่มที่ผมตัดสินใจหยิบขึ้นมาอ่าน และกำลังเก็บรายละเอียดต่างๆ อยู่
ซึ่งก็ช่างเหมาะเจาะ กับสภาพเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบันเหลือเกิน ที่การแก้ไข รัฐธรรมนูญ กำลังถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียง ว่าใครจะมีสิทธิแก้ หรือใครจะมีสิทธิห้าม อีรุงตุงนัง
ดร.โกวิท ท่านอธิบายไว้โดยละเอียดทีเดียวครับ ถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของรัฐต่างๆ ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ว่าพอที่จะแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังที่จะได้คัดลอกกันมาให้ทุกท่านอ่านกัน ดังนี้ครับ
1. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติ โดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกร่างกฎหมายธรรมดา กล่าวคือ ถือเอาเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นตัวอย่างของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยวิธีการง่ายๆ เช่นนี้ แต่เราจะต้องระลึกไว้เสมอว่า
รัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร นั้นเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เกิดจากการรวบวมกฎหมายฉบับต่างๆ เข้าเป็นรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับเดียว เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (หมวด 12) ได้มีการบัญญัติให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยวิธีนี้ [รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ขยับไปเป็น หมวด 15]
2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติแบบลงคะแนนเสียงพิเศษ โดยวิธีการพิเศษ คือ ต้องการคะแนนเสียงมากกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายธรรมดา
กล่าวคือ ไม่ใช่แต่เพียงเสียงข้างมากของ 50% + 1 เท่านั้น แต่ต้องเป็นคะแนนเสียงที่มากกว่านั้น เช่น 2/3 หรือ ¾ ของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด เป็นต้น
ประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ได้ใช้วิธีการนี้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของประเทศ
3. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติแบบให้มีการลงประชามติ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติได้แก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องนำมาให้ประชาชนลงคะแนนเสียงรับรอง
เป็นการแสดงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับหลักการ รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศษ พ.ศ.2501 และรัฐธรรมนูญไทยปี พ.ศ.2492 และ 2501 ก็ได้ใช้วิธีการนี้
4. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยประชาชนทั่วไป ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ (Referendum) หรือประชาชนมีสิทธิที่จะเสนอข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เองด้วย (Initiative)
วิธีนี้ใช้อยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นักรัฐศาสตร์หลายท่านกล่าวกันว่า วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะประชาชนต่างหาก ที่ควรจะมีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐบาล
แต่วิธีการนี้จะใช้ได้ผลดี ก็ต่อเมื่อประชาชนในรัฐนั้นมีการศึกษาดี และมีความรับผิดชอบในสิทธิและหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี
5. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการจัดตั้งองค์การพิเศษ ซึ่งได้รับเลือกโดยประชาชน ให้มีหน้าที่โดยเฉพาะในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ องค์การพิเศษนี้เรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constitution Convention)
เมื่อแก้ไขเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาเสนอให้ประชาชนลงคะแนนเสียงกันอีกทีหนึ่ง วิธีการนี้ใช้กันมากในสหรัฐระดับมลรัฐ ดังเช่นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของมลรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) เมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นต้น
ประเทศไทยได้นำเอารูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญนี้ มาใช้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540)
โดยมีผู้แทนจากจังหวัดต่างๆ สถาบันอุดมศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รัฐศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง มีการลงมติรับรองจากที่ประชุมรัฐสภากลั่นกรองจนได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน
ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 233 วัน แล้วเสนอรํฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้รัฐสภาพิจารณารับรอง และทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงลงพระปรามาภิไธย
เฉพาะที่ ดร.โกวิท ท่านยกมาอธิบาย ก็ปาเข้าไปตั้ง 5 วิธีแล้ว จะแก้ไขกันด้วยวิธีใดนั้น ก็เชิญเลือกกันตามอัธยาศัยเถิด ขออย่างเดียว... อย่า รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วเอาใครที่ไหนก็ไม่รู้มายกร่าง รับไม่ได้จริงๆ
ทิ้งท้ายวันนี้ ไว้ด้วยบรรยากาศดีๆ ของงาน เกษตรแฟร์ ประจำปี 2555 ที่มีเหตุให้ต้องเลื่อนกำหนดการ มาจากปลายเดือนมกราคม ต่อเนื่องต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูฝน ตกพรมๆ กันพอแฉะๆ แทบทุกเย็น
เงื่อนเวลาที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เล่นเอาชื่อเล่นของงาน อย่าง เทศกาลมะขามหวาน ต้องจบสิ้น กลายเป็นทุเรียนหมอนทองแทน ส่วนแคปหมู น้องหมา และต้นไม้นั้น ยังยืนยันว่า คับคั่งเหมือนเดิม
สำหรับมิตรรักนักชิม ปีนี้ ทั้ง อินเดียนบาร์ ของคณะวนศาสตร์ ประมงซีฟู้ด ของคณะประมง และ ร้านอาหารนิสิตสัตวแพทย์ ของคณะสัตวแพทย์ ยังคงรักษามาตรฐาน ไม่ยิ่งหย่อนกว่าที่ผ่านมา
แต่ที่เข้าใจว่ามาแรงแซงทุกร้าน คือ แฮฟ อะ ซีท ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ใช่การแสดงผาดโผน ไม่ใช่บรรยากาศแปลกตา ไม่ใช่อาหารเปิปพิสดาร แต่เป็นบริการดีๆ เจือด้วยรอยยิ้ม ของน้องๆ นิสิต
โดยเฉพาะ น้องเจิน นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เชฟวัยใส เจ้าของ บลูเบอรี่ชีสพาย รสชาติดี ราคาเหมาะสม เพียง 29 บาท แต่ก็ไม่ได้น้อยหน้า นักเรียนเชฟจาก เลอ กอร์ดอง เบลอ เลยจริงๆ
ถ้าไม่เชื่อ... ต้องไปลองชิมกันด้วยตัวเองครับ งานนี้เขาจัดถึงวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายนนี้ เท่านั้น !!!
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2555 หน้า 6. |
|
|
04 มิ.ย. 55 / 19:47 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 1862 : discuss 1 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
158.108.237.57
|
|