|
|
|
" ว่าด้วย สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ " |
|
|
ว่าด้วย สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com
ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าแบรนด์ สิงห์เขียว ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูคุ้นตานัก ของคอการเมืองบ้านเรา
เวลากล่าวถึงนักรัฐศาสตร์ สังคมก็มักนึกถึงแต่ สิงห์ดำ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สิงห์แดง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มือรองๆ ที่พอจะได้ยินชื่อกันบ้าง ก็มี สิงห์ทอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ สิงห์ขาว คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วน สิงห์เงิน สิงห์คราม สิงห์ฟ้า สิงห์เทา สิงห์นู้น นี่ นั่น โน่น สารพัดสิงห์ นอกจากนิสิต/นักศึกษาของภาควิชาหรือคณะตนเองแล้ว ก็แทบจะไม่มีใครรู้จัก หรือรู้ว่ามีตัวมีตนอยู่บนโลกใบนี้ด้วยซ้ำไป
กล่าวถึง ติณสีห์ สิงห์กินหญ้า ไม่กินเนื้อ เป็นการเฉพาะ จะด้วยเป็นมังสวิรัติ หรือวัฒนธรรมขององค์กร ที่สอดรับกันมา ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย คณะ เรื่อยลงมากระทั่งภาควิชา ที่ค่อนไปในทาง อนุรักษ์นิยม
แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยปิด ที่มีปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือที่ตั้ง อยู่ในกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางของแทบทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านทรัพยาการ และสื่อสารมวลชน รวมถึงอายุอานาม ก็เข้าใกล้ 4 ทศวรรษไปทุกที
แต่ในทางปฏิบัติ นอกจาก รองศาสตราจารย์ ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ที่มีบทความลงพิมพ์เป็นประจำทุกวันพุธ ในคอลัมน์กระแสทรรศน์ ของหนังสือพิมพ์ มติชน บ่อยครั้งในนิตยสารต่วยตูน และตามหน้าสื่อ ทั้งโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์
รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ วันทะนะ ผู้บัญญัติศัพท์ คำว่า วาทกรรม ในภาษาไทย จาก Discourse ตามความหมายของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ชื่อ มิเชล ฟูโกต์
ซึ่งกระผมยังคงจำได้ขึ้นใจ ว่าครั้งหนึ่ง ในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2551 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถาบันเจ้าภาพ กล่าวบนเวทีสัมมนา ว่า เมื่อ พ.ศ.2525 ไม่มีใครไม่รู้จัก สมเกียรติ วันทะนะ ที่ในขณะนั้น มีอายุเพียง 27 ปี
รองศาสตราจารย์ ดร.มนฤตย์พล อุรบุญนวลชาติ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์เล่มสำคัญ สัญลักษณ์ทางการเมืองในการเมืองไทย: ศึกษาเฉพาะกรณี การใช้สัญลักษณ์ทางการเมืองในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2487)
ตลอดจน รองศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ รัฐฉัตรานน์ ลูกศิษย์ผู้สืบทอด เทคนิคการวิจัยเชิงปริมาณในทางรัฐศาสตร์ ต่อจาก ศาสตราจารย์ ดร.พรศักดิ์ ผ่องแผ้ว แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณาจารย์ที่เหลืออีกเกือบ 20 คน ก็ล้วนแล้วแต่มุ่งมั่นปฏิบัติภาระกิจ ด้านการเรียนการสอนเป็นสำคัญ จึงแทบไม่มีเวลาในการสร้างพื้นที่ ทั้งในแวดวงวิชาการ และแวดวงวิชาชีพ ทั้งในทางบวก และทางลบ
เป็นข่าวทีไร สื่อมวลชนจำนวนมาก ถึงขั้นเขียนกันผิดๆ ถูกๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าเป็น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งที่ในความเป็นจริง หน่วยงานโลกลืมแห่งนี้ ยังมีสถานะเป็นเพียง ภาควิชา ซ้ำร้าย ชื่อเจ้ากรรมก็ยังมีสร้อยห้อยท้ายยาวยืด ว่า รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ อีกตะหาก
ดีว่า 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ หน่วยงานคู่ขนานอย่าง สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พอจะแทรกตัวเข้ามาเพิ่มส่วนแบ่งพื้นที่หน้าสื่อ ตีตื้นตามสิงห์ตัวอื่นๆ ขึ้นมาได้บ้าง จากหลากหลายกิจกรรม
อาทิ การออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว และให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาลาออก เพื่อป้องกันเหตุการณ์นองเลือด เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2553
การปาฐกถาสาธารณะ เรื่อง การใช้หลักนิติธรรมในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2553
รวมถึง กิจกรรมการตั้งฉายาสถาบันทางการเมืองไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2553 ที่มาของฉายาโดนใจสื่อมวลชน เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว ตามติดมาด้วย ปูอบวุ้นเส้น ในการตั้งฉายาฯ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2554
กระทั่ง ล่าสุด การออกแถลงการณ์ เรื่อง มติและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา
เรียกร้องให้ประธานรัฐสภา ตัดสินใจเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระสามให้แล้วเสร็จ
และ ให้อัยการสูงสุด เร่งรัดการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 2 โดยด่วน
นอกเหนือจากเนื้อหาสาระที่แปลกใหม่ ให้มุมมองที่แตกต่างไปจากค่ายอื่นสำนักอื่น ผลพลอยได้ของกิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ ก็คือการดึงให้แบรนด์ รัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่รู้จักของสังคมมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะผ่านสื่อโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9, NBT, TPBS ทีวีดาวเทียม ASTV, Asia Update, Nation Channel, Spring News หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, ข่าวสด, โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ ฯลฯ กว้างขวาง อย่างไม่เคยมีมาก่อน
วันนี้ กระผมจึงขออนุญาต อุทิศพื้นที่ให้แก่การแนะนำ ความเป็นมาและเป็นไป ของสมาคมดังกล่าว ให้ทุกท่านได้รับทราบกันแต่พอสังเขป ดังนี้
สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดิมชื่อ สมาคมนิสิตเก่าปริญญาโทรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จดแจ้งจัดตั้งต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2541
ล่วงมา 1 ทษวรรศ จึงเปลี่ยนชื่อ และปรับวัตถุประสงค์ของสมาคม ต่อนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร ให้เป็นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2551
ด้วยความตระหนักในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น ที่สังคมต้องการหลักวิชา เพื่อเข้ามาเป็นกรอบในการอธิบาย เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
ส่งผลให้หน้างานของสมาคมฯ ขยายตัวครอบคลุมประเด็นทางวิชาการ กว้างขว้างยิ่งขึ้น ทั้งการเมืองการปกครองและการบริหารรัฐกิจ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย สิทธิมนุษยชน การเกษตรและการพัฒนาแหล่งน้ำ การพาณิชย์การอุตสาหกรรมและการคมนาคมขนส่ง รวมถึง การสื่อสารมวลชน
ภาพรวมของกิจกรรม จึงมุ่งเน้นหน้างานทางวิชาการ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง เข้มข้นขึ้น ขณะที่กิจกรรมเสริมความสัมพันธ์สมาชิก เช่นเดียวกับสมาคมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ข่าวว่านอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเปิดเกมรุกหนัก ทั้งจัดตั้ง ศูนย์ให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิจัย และ ศูนย์พัฒนาศักยภาพทางการศึกษา
วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา รวมถึง การจัดประชุมวิชาการ ทั้งในระดับชาติ และระดับบัณฑิตศึกษา ที่เห็นว่ามีแผนจะจัดมาตั้งแต่ต้นๆ ปี
ทั้งยังเริ่มมีการพูดคุยกันในสมาคมแล้วว่า จะยกระดับกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ไปสู่การเป็นเครื่อข่าย ร่วมกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยอันมีที่ตั้ง อยู่ในส่วนภูมิภาค อีกด้วย
ด้วยความคล่องตัว ในฐานะ นิติบุคคล และความชัดเจนในหลักการ สมาคมฯ จึงกล้าที่จะแสดงบทบาทในฐานะสถาบันทางวิชาการ
หลายครั้ง จึงก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก จากวิถีชีวิตเดิมๆ ของภาควิชาฯ ที่อาจจะมุ่งเน้นแต่งานในหน้าที่ มีการบ่นอุบบ่นอิบ ว่าสมาคมฯ จะทำให้ภาควิชาฯ ต้องพลอยเดือดร้อนรำคาญ
แต่ท้ายที่สุด กลไกอย่าง สมาคมฯ อาจกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ที่ช่วยหนุนเสริมกิจการของภาควิชาฯ ให้มีชื่อมีเสียง มีที่ยืน มีบทบาทในสังคม ก็ได้
เรื่องแบบนี้ สังคมเขาจะเป็นผู้ตัดสินเองหละครับ พี่ๆ น้องๆ ที่ยังรู้สึกไม่ค่อยถูกอกถูกใจ อย่าเพิ่งใจร้อน ออกปากปรามาสกันจนเกินควร !!!
--------------------------------------
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2555หน้า 6. |
|
|
12 มิ.ย. 55 / 00:33 |
|
0
0
|
|
|
|
|
|
view 4464 : discuss 3 : rating - : bookmarked 0 : vote 0
|
14.207.168.199
|
|
|
|