[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" ฤดูวิชาการ (1) "
ฤดูวิชาการ (1)

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ใครหลายคนอาจมีเรื่องวุ่นวายในชีวิต จนหลงลืมไปว่า เป็นวันครบรอบ 1 ปี แห่งชัยชนะจาก “การเลือกตั้ง” ของพรรคเพื่อไทย

เหนือพรรคการเมืองคู่แข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์ ที่พยายามดิ้นรน จนกระทั่งวินาทีสุดท้าย ช่วงใช้ทุกกลเม็ด ลอกนโยบาย บีบน้ำตา สาดโคลน เรียกว่าทำมาทุกอย่าง จนแล้วจนรอด ก็ยังได้มาไม่ถึงเป้า

อังคารที่ผ่านมา จึงมีข้อความกรอบเล็กๆ ปรากฎบนหน้าแฟนเพจ I Support PM Abhisit อ้างอิงว่าเป็นคำกล่าวของ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า

“ครบรอบ 1 ปี เบอร์ 1... ครบรอบหนึ่งปีแล้วครับ จากวันที่เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ประเทศผ่านอะไรมาพอสมควร มีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้ไม่ได้ มาประเมินด้วยตนเองก็ได้ครับว่า คุณอยู่ในกลุ่มไหน

นับตั้งแต่น้ำท่วม แพงทั้งแผ่นดิน ค่าแรง 300 ปริญญาตรี 15,000 (สำหรับข้าราชการ) รถคันแรก จำนำข้าว ที่นักวิชาการวิเคราะห์ว่างบ 100 บาท ถึงมือชาวนาแค่ 17 บาท และส่งออกข้าว ที่ทรุดฮวบประมาณ 50%

การกู้เงินมหาศาล โดยรัฐบาลที่เคยอ้างว่าเป็นห่วงเรื่องหนี้ การพักหนี้ ที่บอกว่าพักให้ทุกคน สุดท้ายก็ให้แค่ลูกหนี้ ธกส. และเป็นการเอาเงินภาษี ไปละเลงแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ ว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินชาวบ้านอย่างไร

นอกนั้น ก็มีการผลักดันการอภัยโทษ นิรโทษกรรม และยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ อันนี้ใครได้ประโยชน์ รู้ๆกันอยู่แล้วนะครับ

แต่ที่น่าเป็นห่วง คือผ่านมาหนึ่งปี รัฐบาลไม่ได้ให้ความมั่นใจ ว่าประเทศจะก้าวไปในทิศทางใด คุณอภิสิทธิ์ เสนอ 10 ฐานรากพิมพ์เขียวประเทศไทยแล้ว

แต่หนึ่งปีผ่านไป ยังรอว่าแผนของรัฐบาลนี้คืออะไร เราจะได้ประเมินได้ว่า อีกสามปีที่เหลือนี้ เราคาดหวังอะไรได้บ้าง”

หลายเรื่องมากมาย ขออนุญาตยังไม่ออกความเห็นตรงนี้หละครับ แต่มีประเด็นหนึ่งที่นึกขึ้นได้ ก็คือ นโยบาย “รับจำนำข้าวเปลือก” ที่ คุณกรณ์ อ้างอิงมาอีกทอดหนึ่งว่า “นักวิชาการวิเคราะห์ว่างบ 100 บาท ถึงมือชาวนาแค่ 17 บาท”

น่าจะหมายถึง บทความวิจัย เรื่อง “นโยบาย “ประชานิยม” กับการสร้าง/ลด “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความไม่เป็นธรรม” ทางเศรษฐกิจ: ข้อเสนอเชิงประจักษ์ว่าด้วยการแบ่งสรรผลประโยชน์ในธุรกิจค้าข้าวของไทย”

เขียนโดย นายกิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ นายธนพร ศรียากูล และ ดร.ชยงการ ภมรมาศ และเพิ่งนำเสนอไปเมื่อ วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพมหานคร

ใน การประชุมสังคมวิทยาระดับชาติ ครั้งที่ 4 “แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละโลก ?: วาระการวิจัยเพื่ออนาคต”

โดย คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครับ... การประชุมวิชาการที่เมื่อปีที่แล้ว กระผมแซวว่าท่าจะมีวิทยากรสักท่าน เป็น “โรคกลัวน้ำ” พอเห็นน้ำมีทีท่าจะมา จึงพากันเลื่อนงานหนี ล่วงหน้าน้ำไปเป็นเดือนๆ

แรกเริ่มเดิมที กำหนดไว้ว่าจัดตั้งแต่ ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2554 หนแรกเลื่อนมาเป็น กลางเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน สุดท้าย กว่าจะได้ประกอบพิธีกรรมกันจริงๆ ก็ล่วงมาอีกเกือบ 8 เดือน

เล่นเอาเจ้าของบทความวิจัย ทั้ง 9 เรื่อง ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอ นอกเหนือจากวิทยากรรับเชิญรุ่นกลาง-ใหญ่ ใจตุ้มๆ ต่อมๆ กลัวว่าบทความที่ต่างพยายามเขียนกันให้สดใหม่ จะหมดอายุ บูดเสียก่อน

กลับมาว่ากันเรื่องบทความดังกล่าว ผู้เขียนเริ่มต้นจากการกล่าวถึง สิ่งที่เรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความไม่เป็นธรรม” ทางเศรษฐกิจ

ที่หลายท่าน หลายฝัก หลายฝ่าย มองว่าเป็นต้นตอของปัญหาแทบจะทั้งหมดทั้งปวง รวมถึงความขัดแย้งของประเทศ เสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน เสื้อฟ้า เสื้อหลากสี สารพัดเสื้อ ในปัจจุบันนี้ อีกด้วย

ด้วยการพุ่งความสนใจไปยัง “ชาวนา” ประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่แม้จะมากด้วยจำนวนของสมาชิก แต่น้อยเหลือเกินในจำนวนของทรัพยากรที่ครอบครอง เรียกง่ายๆ ว่าเยอะจริงแต่จนครับ

ผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายประชานิยม ที่ในช่วงหลัง ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนๆ จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ต้องนำมาใช้ทั้งนั้น มีผลต่อการส้รางหรือลดช่องว่างดังกล่าว

ในกรณีของชาวนา ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็คือ นโยบาย “รับจำนำข้าวเปลือก” และ นโยบาย “ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว” นั่นเอง

ภายใต้วัตถุประสงค์ประการสำคัญ ในการวิเคราะห์ให้เห็นถึง การแบ่งสรรผลประโยชน์ในธุรกิจค้าข้าวของไทย ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ “ชาวนา”, “โรงสี” และ “ผู้ส่งออก”

รวมถึง เปรียบเทียบผลของการนำนโยบายประชานิยม ทั้ง 2 รูปแบบ ในมิติของการสร้างหรือลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ในวงธุรกิจค้าข้าว

ด้วยการนำข้อมูลอนุกรมเวลา ที่ปรับให้อยู่ในรูปของผลต่างอันดับที่ 1 ของ 1) ราคาข้าวสารในตลาดโลก 2) ราคาข้าวสารภายในประเทศ ชนิดข้าว 5% และ 3) ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศ ณ ความชื้น 15% มาวิเคราะห์ความถดถอย

การเทียบบัญญัติไตรยางค์ ปรับอัตราแลกเปลี่ยน ระหว่างเงินบาทและดอลล่าร์สหรัฐ รวมถึงอัตราการสีแปร จากข้าวเปลือกมาเป็นข้าวสาร อีกเพียงเล็กน้อย ผลที่ได้รับก็คือ โครงสร้างสัดส่วนการแบ่งสรรผลประโยชน์ ระหว่างทั้ง 3 กลุ่ม

ก่อนการนำนโยบายประชานิยมมาใช้ ชาวนา ถือว่าได้รับผลประโยชน์สูงสุด สูงถึงร้อยละ 68 ในขณะที่ ผู้ส่งออก และโรงสี ได้รับ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 2 ตามลำดับ

เมื่อนำนโยบายประชานิยมมาใช้ โครงสร้างการแบ่งสรรผลประโยชน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ชาวนา ที่เคยเป็นผู้รับผลประโยชน์ มากถึง ร้อยละ 68 กลับลดลงไปกว่าครึ่ง เหลือเพียง ร้อยละ 32

ขณะที่ผู้ส่งออก และ โรงสี ได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นเป็น จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 47 และ ร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 21 ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อจำแนกนโยบายประชานิยม ออกเป็น การรับจำนำข้าวเปลือก และ การประกันรายได้เกษตรกร พบว่า การรับจำนำข้าวเปลือก มีสัดส่วนการแบ่งสรรผลประโยชน์ ที่เป็นคุณแก่ผู้ส่งออกมากเป็นประวัติการณ์

สูงถึง ร้อยละ 61 ในขณะที่ชาวนา กลับได้รับน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เพียง ร้อยละ 17 เมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างสัดส่วนการแบ่งสรรผลประโยชน์ ของการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ที่เป็นคุณแก่ชาวนามากเป็นประวัติการณ์ สูงถึง ร้อยละ 87 ในขณะที่ ผู้ส่งออก และ โรงสี ได้รับเพียง ร้อยละ 9 และ ร้อยละ 4 ตามลำดับ

สอดคล้องกับข้อมูล ที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ได้แก่ นางจินตนา ชัยยวรรณาการ รองอธิบดีเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อดีตรองอธิบดีกรมการค้าภายใน

นางสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานข้าวและผลิตภัณฑ์ สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และ เฮีย ซ. ผู้ประกอบการรายสำคัญ แถบภาคเหนือตอนล่าง

พิจารณากันแต่ในโจทย์ของ ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม การวิจัยครั้งนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถตอบโจทย์ดังกล่าว ได้ดีกว่านโยบายรับจำนำข้าวเปลือก อย่างไม่ต้องสงสัย

ในเมื่อนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ชาวนาเป็นผู้ที่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ในอัตราส่วนที่น้อยที่สุด ไม่ถึง 1 จาก 5 ส่วน ขณะที่ โรงสี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ส่งออก หยิบชิ้นปลามัน ได้รับรวมกันเกินกว่า 4 จาก 5 ส่วน

แต่นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ชาวนารับไปเต็มๆ ถึงเกือบ 9 จาก 10 ส่วน เหลือไว้เพียง 1 ส่วนเศษๆ ให้ โรงสี และผู้ส่งออก

หากแต่ข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์อีกประการหนึ่ง ที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ก็คือ ความสามารถในการยกระดับราคาข้าวได้จริงทั้งระบบ ของการรับจำนำข้าวเปลือก อันหมายถึงแนวโน้มการลดลงของปัญหาความยากจนของชาวนา

ที่แม้จะได้รับส่วนแบ่งในเชิงสัดส่วน ลดน้อยลง แต่ในเชิงเม็ดเงิน ซึ่งได้รับโดยตรงจากการจำนำ หรือกล่าวให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือ การขายข้าวเปลือกให้กับรัฐบาลนั่นเอง กลับมากยิ่งขึ้น ตามราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้นนั่นเอง

การให้ผลในทางตรงกันข้ามเช่นนี้ของนโยบาย จึงตกเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาล ว่าจะเลือกทางเลือกเชิงนโยบายใด

ระหว่างนโยบายหนึ่ง ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ชาวนาได้ขี่จักรยาน โรงสีได้ขี่มอเตอร์ไซต์ ผู้ส่งออกได้ขับรถกระบะ จนอย่างเท่าเทียมกัน

กับอีกนโยบายหนึ่ง ที่มุ่งความกินดีอยู่ดี ชาวนาได้ขับรถกระบะ โรงสีได้ขับรถเบนซ์ ผู้ส่งออกได้ขับเฟอรารี่ แม้จะเหลื่อมล้ำกันมากสักหน่อย แต่ทุกคนก็อยู่ดีกินดี

นอกจากจะเห็นว่าบทความดังกล่าว เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ ทั้งยังนำเสนอในการประชุมระดับชาติ ที่เหมาะสมจะนำมาเปิดฤดูวิชาการของปี 2555 นี้แล้ว

กระผมก็ยังเห็นว่า น่าจะนำมาทำความเข้าใจเพิ่มเติม กันอีกสักนิด ว่าผู้เขียนเขาใช้ “ราคา” อันเป็นเครื่องชี้วัดเม็ดเงิน ที่แต่ละฝ่ายได้รับจริง มิใช่ “งบประมาณ” ซึ่งฝ่ายรัฐเป็นผู้จ่ายออกมา แล้วค่อยไปไล่เรียงว่าใครเก็บไปได้เท่าไหร่

เขียนเช่นนี้ คุณกรณ์ และแฟนคลับ อย่าเข้าใจผิด นึกว่ากระผมเอามาตำหนินะครับ ด้วยความเคารพ และชื่นชมอย่างยิ่ง ที่อย่างน้อย จะพูดจะจาอะไร คุณกรณ์ ก็ยังมีหลักอิง อุตส่าห์นึกถึงงานทางวิชาการ ไม่ใช่นึกอยากจะพูดอะไรก็พูด

กระผมก็แค่ยกมาขยายความไว้ เกิดทางฝากฝั่งของพรรคเพื่อไทย หรือใครๆ คิดจะนำไปอ้างอิงต่อ ก็จะได้ไม่หลงประเด็นครับ...

--------------------------------------

ที่มา: หนังสทิพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2555 หน้า 6.
09 ก.ค. 55 / 19:38
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 2039 : discuss 1 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 158.108.135.149

#1# - 673413 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] อ่านยากจัง...

โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 นโยบายโดยหลักการครับ

ข้อแตกต่างอยู่ที่การจัดสรรแบ่งเปอร์เซนต์ และจำนวนเงินที่แต่ละฝ่าย (ชาวนา ดรงสี พ่อค้า และนักการเมือง) ได้รับขึ้นอยู่กับการจัดการของรัฐ และปริมาณเงินที่รัฐใช้ (ซึ่งต้องมาจากภาษี) ในการผลักดันราคา

อีกอย่าง...การที่ชาวนาจะได้รับเงินมากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปครับ
12 ก.ค. 55 / 08:41
0 0
tp116 [icon smile : 92 bytes] (4265) : n/a : n/a : n/a
followup id 673413 125.24.66.213


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]