[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" สิทธิของ ‘ผู้บริโภค’ "
สิทธิของ ‘ผู้บริโภค’

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

ร่ำๆ ว่าจะเลิกติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชนกระแสหลัก มาก็หลายครั้งหลายหน ล่าสุดเมื่อ 3-4 ปีก่อน เพราะนอกจากความจริงอันเป็นสาระที่ได้รับ จากแหล่งข้อมูลสาธารณะจำพวกนี้ในบ้านในเมืองของเรา จะมีเจืออยู่แต่พอให้รู้ว่ามีเท่านั้น ไม่มากไม่มายอะไรไปกว่าอัตราส่วนรังนกแห้ง ที่ระบุไว้แล้วอย่างชัดเจนข้างผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปบรรจุขวด

หลายครั้งหลายครา ที่การติดตามข่าวสารด้วยสติอย่างต่อเนื่อง รวมถึงคิดไตร่ตรองด้วยปัญญาอย่างจริงจัง กลับก่อให้เกิดอาการหงุดหงิดใจจนเกือบอดรนทนไม่ได้ แทบจะทุกทีไป

ครั้งก่อนจึงถูกอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่ง เตือนสติเข้าให้ ว่าไม่มีปัญหาอันใดเลย ถ้าคุณมีความรู้ความเข้าเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างดี จนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลข่าวสารจากสื่อเลอะๆ เทอะๆ สามารถออกปลีกวิเวกประหนึ่งฤาษีชีไพร ที่ลำพังญาณทัศนะของตน ก็สามารถหยั่งรู้ความเป็นไปของสรรพสิ่ง ทำนองขงเบ้งหยั่งรู้ฟ้าดินได้

หากแต่ในช่วงวัย หรือขณะที่ปีกของคุณยังไม่กล้าขาของคุณยังไม่แข็ง ก็จำต้องใช้ความอดทน รวบรวมและสติ และอาศัยปัญญาให้มาก ในการจะกลั่นกรองของดีและคัดแยกของเสีย ซึ่งปะปนกันมาให้ได้ เพราะนอกจากข้อมูลข่าวสารอันมีความจำเป็นในฐานะวัตถุดิบแห่งการวิเคราะห์วิจารณ์แล้ว ประสปการณ์แห่งการจำแนกก็ถือเป็นผลพลอยได้อันมีค่ายิ่ง

เมื่อได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ให้เข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้สื่อสารกับทุกท่าน ความจำเป็นอันประกอบด้วยการกล้ำกลืนฝืนทนภายในจิตใจ จึงเคลื่อนตัวมาสู่ความรับผิดชอบอันประกอบด้วยการสึกนึกในหน้าที่ของนักเขียนที่มีต่อผู้อ่าน
เพราะในฐานะความเป็น “ผู้บริโภค” ที่มีสติปัญญาและเหตุผล รวมถึงใช้มันอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อหนังสือพิมพ์เก่าแก่ฉบับนี้ เรื่อยมาจนกระทั่งสละเวลาอันมีค่าให้แก่ข้อเขียนที่อยู่ตรงหน้า

ทุกการกระทำของท่านล้วนมีต้นทุน ต้นทุนที่มิได้จำกัดรูปอยู่แต่ในกรอบของความเป็นธนบัตรหรือเงินเหรียญ แต่เป็นสิ่งนามธรรมที่นักเศรษฐศาสตร์เขาเรียกว่า “ค่าเสียโอกาส” หรือ “Opportunity cost”

ในฐานะสมาชิกของสังคมทั่วไปคนหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่า ภายใต้กระบวนการการพัฒนาอารยธรรม อันก่อให้เกิดความสลับซับซ้อนที่มากยิ่งขึ้นขององค์กร ตลอดจนการแบ่งงานกันทำในระดับโลก ที่ผลักให้คนบางจำพวก ห่างไกลจากสถานะของการเป็นผู้ผลิต ทั้งในทางตรงและทางอ้อม แต่ยังสามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยกลายไปเป็นผู้บริโภคโดยสมบูรณ์

ชัดเจนอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงวิชาการ เพราะบุคคลเหล่านี้จำนวนมาก ทั้งชีวิต แม้ผักสักต้น หรือสัตว์อาหารสักตัว ก็ไม่เคยชุบเลี้ยงเพื่อป้อนเข้าสู่ปากท้องของใคร ต่างยังชีพด้วยปาก อาศัยการพูดการสอนในสิ่งซึ่งบางครั้ง อาจจะเอาไปทำมาหากินอะไรไม่ได้ด้วยซ้ำ แลกกับเงินเพื่อนำไปซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค

ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ หนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นรวมกระผมเข้าไปด้วย ในฐานะผู้บริโภคตลอดชีพ กระผมจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีความตระหนักอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการสูญไปของต้นทุน ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องมิได้ ประเมินค่าได้และประเมินค่ามิได้ เรียกรวมๆ ว่า “สิทธิของผู้บริโภค” นั่นแหละครับ

เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สยามรัฐเพิ่งพาดหัวไปว่า “ต้านนำเข้าหมูเนื้อแดงสหรัฐฯ 2 สมาคมอัดรังแกเกษตรกรไทย” โดยพาดพิงถึงคำสัมภาษณ์ของ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

“การขอพิจาราณาให้เปิดนำข้าหมูเนื้อแดงจากสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรกับการรังแกเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย... วันนี้แม้ต้องขายหมูในราคาถูก เกษตรกรก็ยอมเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้คงอยู่ต่อไป แม้จะไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วย พวกเราก็พยายามช่วยเหลือตัวเองอย่างถึงที่สุด ดังนั้นจึงขอให้อย่าทำร้ายเกษตรกรอีกเลย”

รวมถึงคำสัมภาษณ์ของ นพ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อส่งออกไทย ที่ว่า “หากไทยยอมให้นำเข้าหมูได้ก็จะเกิดปัญหากระทบภาคปศุสัตว์เป็นลูกโซ่ เพราะจะทำให้ราคาสุกรในประเทศตกต่ำลงอีก เป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคเนื้อสุกรแทนเนื้อไก่ ซึ่งจะกระทบกับอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยโดยตรง”

กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ สยามรัฐก็พาดหัวประเด็นต่อเนื่อง “พณ. สั่งห้ามกดราคารับซื้อหน้าฟาร์มต่ำกว่า 50 บ./กก. ชง ‘พิกบอร์ด’ แก้ปัญหาหมูทั้งระบบ” กล่าวถึง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ออกมาเปิดเผยว่า

ในระยะเร่งด่วน กระทรวงฯ ได้กำหนดมาตรการเยียวยา ด้วยการรณรงค์เพิ่มการบริโภค โดยขอความร่วมมือจากห้างค้าปลีกค้าส่ง ให้จำหน่ายหมูเนื้อแดงไม่เกินกิโลกรัมละ 105 บาท และตลาดสด ให้จำหน่ายไม่เกินกิโลกรัมละ 100 บาท

เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ กำหนดราคาสุกรมีชีวิตขั้นสูงสุดและต่ำสุด และจะดำเนินการสำรวจขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เพื่อจัดระบบการค้าให้เกิดความเป็นธรรม สนับสนุนการเก็บสต็อกเนื้อสุกรส่วนเกินเข้าห้องเย็น

ระยะกลาง กระทรวงฯ จะสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกสุกร โดยเริ่มจากประเทศเพื่อบ้าน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนลดต้นทุนการผลิต ด้วยการนำเข้าอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปีผ่านธนาคารของรัฐ รวมทั้งสร้างหรือปรับปรุงโรงเรือนเพื่อใช้สำหรับเก็บวัตถุดิบและอาหาร

ฟังเผินๆ ก็เพลินดีเหมือนกันครับ หากแต่ต้องไม่ลืมด้วยว่า “ทฤษฎีราคา” ที่สอนกันในวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น อธิบายไว้ง่ายๆ ว่าราคาถูกกำหนดโดยคน 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งสามารถต่อรองกันได้ตามสมควร กระทั่งในท้ายที่สุด ราคาจะมีแนวโน้มเข้าสู่จุดที่เรียกว่า “สมดุล” คือราคาผู้ผลิตก็พอใจจะขาย ผู้บริโภคก็พอใจจะซื้อ

พิจารณาข้อเรียกร้องและนโยบายทั้งหลายทั้งมวล ที่ชั่วนาตาปีก็คล้ายๆ จะวนเวียนอยู่กับสิทธิ และประโยชน์ของผู้ผลิตแต่ฝ่ายเดียว จนไม่รู้ว่าสิทธิ และประโยชน์ของผู้บริโภคถูกจับโดยไปอยู่ตรงไหน ใครคุ้มครอง ?

จะมาพูดว่าก็มีการจัดตั้งองค์กรให้แล้ว ก็ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตรงศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะไง หน้าเว็ปไซต์ก็เขียนไว้ชัดเจนแล้ว ว่าสิทธิของผู้บริโภคตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 นั้นมีอยู่ด้วยกันถึง 5 ข้อ ได้แก่

ข้อ 1 สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ข้อ 2 สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ข้อ 3 สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ข้อ 4 สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ ข้อ 5 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

หรือจะอ้างอิงกันให้สุดๆ ไปเลย เปิดดูเอาจาก รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หมวดที่ 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 7 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ มาตราที่ 84 (5) บัญญัติให้รัฐต้อง “กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค”

คำถามก็คือ สิทธิอะไรที่ใครสักคนจะออกมาปิดโอกาสของผู้บริโภคอย่างกระผม ให้ไม่ได้ทานเนื้อหมูจากอเมริกา ก็ในเมื่อทั้ง พรบ. ปี 2522 ว่าด้วยสิทธิ ข้อ 2 รวมถึงรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าด้วยแนวโนยบายด้านเศรษฐกิจ ก็เอื้อให้กระผมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ ซึ่งว่ากันตามนี้ รัฐบาลมีหน้าที่โดยตรงเสียด้วยซ้ำ ที่จะต้องสนับสนุนให้มีการนำเข้าอย่างเสรี

ส่วนที่ใครจะมาอ้างว่าการกระทำเช่นว่านี้ เป็นการรังแก ทำร้ายเกษตรกรภายในประเทศ กระผมก็ขอถามอย่างตรงไปตรงมาบ้างว่า เคยได้ยินคำพูดของ เจเรมี่ เบนแธม บ้างไหมครับ

“It is the greatest happiness of the greatest number that is the measure of right and wrong.” ความสุขสูงสุดของคนจำนวนมากที่สุดนั่นแหละที่เป็นเครื่องชี้วัดความถูกความผิด

พูดเช่นนี้ อย่าเพิ่งทึกทักว่าผมเป็นคนนิยมพวกมากลากไปนะครับ มันมีเหตุมีผลของมัน ลองคิดตามกันดูดังนี้ว่า ทานสเต็ก ชาบู หรือปิ้งย่าง ร้านไหนๆ ก็ได้ในประเทศแห่งนี้ เคยพบสักแห่งไหมหละ ที่เนื้อนอกราคาถูกกว่าเนื้อในประเทศ มันแพงกว่าทั้งนั้นแหละ

ตั้งแต่ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าลิบลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของประเทศที่พัฒนาแล้ว โซนยุโรป โซนโอชีเนีย หรือโซนอเมริกา ไหนจะค่าขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลมาอีก ถึงบ้านเราเจอบวกภาษี อะไรเข้ามาก็แพงหูฉี่ทั้งนั้น ราคาหมูกระทะเนื้อไทยๆ เฉลี่ยแค่หัวละร้อยสองร้อย จำได้ว่าเคยมีบุญวาสนาได้ทานเนื้อนอกกับเขาทีหนึ่ง เฉลี่ยต่อหัวปาเข้าไปตั้ง 3,000 บาท

เปรียบเทียบกันชัดๆ เช่นนี้ ถ้าเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเกษตรกรบ้านเราไม่มีปัญญาผลิตให้ขายในราคาที่แข่งขันได้ กระผมว่าเลิกเลี้ยงเถอะครับ จะไปทำมาหากินอะไรก็เอา เพราะดูแล้วไม่น่าจะเวิร์ค ไม่ต้องทำเสียสละว่าเป็นกรณียกิจเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน หรืออะไรก็ตามแต่

หนักหนาสาหัสที่สุด ก็คือกระทรวงพาณิชย์ ที่กี่ปีกี่ชาติก็คิดได้แค่การควบคุมราคา ขอความร่วมมือให้ขายกันในเพดานที่กำหนด คำถามคือ เราจะอยู่และแก้ปัญหาแต่เพียงเฉพาะหน้าเช่นนี้ไปอีกถึงเมื่อไหร่ครับ หรือท่านคิดว่าเงินทองที่ใช้มันเป็นเงินภาษีของประชาชน ไม่ใช่ของท่าน เลยจะอยู่กันไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละหรือไง

แทนที่จะใช้มุขเดิมๆ เที่ยวเอาเงินไปซื้อหมูเขียวๆ มาขายราคาถูก ไล่บี้พ่อค้า-แม่ค้าค้าในตลาด หรือออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกร ซึ่งพิสูจน์มาหลายชั่วคนแล้วว่า จนกันอย่างเสมอหน้า รัฐบาลน่าที่จะลองศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนนโยบาย ไปเป็นการจ่ายเงินชดเชยเพื่อให้เลิกเลี้ยงแทน ส่วนเขาจะไปปลูกเกาลัดหรืออะไรก็ช่างเขาเถิด

เล่นอุ้มกันด้วยวิธีปิดทางไม่ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ต้องควักสตางค์ในกระเป๋าจ่ายแพงๆ ผมว่าไม่น่าจะเข้าท่าครับ !

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 หน้า 6.
27 ก.พ. 55 / 16:15
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 1526 : discuss 1 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 158.108.227.98

#1# - 671698 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ครับ
ไม่เห็นด้วยในส่วนที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยครับ
28 ก.พ. 55 / 11:15
0 0
tp116 [icon smile : 92 bytes] (4265) : n/a : n/a : n/a
followup id 671698 49.229.221.146


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]