[suanboard monotone logo : 2777 bytes]
[header decor line : 64 bytes]
HOME RULE FAVOURITE MEMBER ZONE REACTIVATE FORGET PASSWORD    

SEARCH [icon freecompose : 217 bytes]
[icon register : 195 bytes] สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก : โพสต์รูป, รูปแบบตัวอักษร, ไอคอน, bookmark, ค้นหาข้อความ ฯลฯ [icon login : 178 bytes]

[icon-delete : 101 bytes]
" ชัยชนะของใคร... ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา หรือประชาชน ? "
ชัยชนะของใคร... ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา หรือประชาชน ?

เก่ง วงศ์กล้า
keng_wongkla@hotmail.com

เชื่อว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายท่านคงตกอยู่ในสภาพ ไม่เป็นอันทำการทำงาน หายใจเข้า หายใจออก นึกถึงแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งก่อนและหลังการอ่าน เมื่อช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2555

กระผมเอง แม้โดยส่วนตัว จะไม่ค่อยอินนัก กับความขัดแย้งเทือกนี้ แต่ก็ถูก สิงห์หนองจอก ลากไปนั่งรอรับฟัง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถึงหน้าศาลรัฐธรรมนูญ อาคาร A ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เที่ยง เหมือนกัน

สาระสำคัญของคำวินิจฉัยในวันนั้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดทำเป็นข่าวประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ข่าวที่ 22/2555 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2555 เรียบร้อยแล้ว จึงขออนุญาต คัดลอกมาให้พิจารณากันซะเลย จะได้ไม่เพี้ยนไป

“วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมานั่งอ่านคำวินิจฉัย กรณี พลเอก สมเจตต์ บุญถนอม ผู้ร้อง และผู้ร้องอื่นๆ รวม 5 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ผลของคำวินิจฉัย มีดังนี้

ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

ปรากฏผลการลงมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ได้หรือไม่

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงมติของประชาชน ก็ควรจะได้ให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่

หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

ประเด็นที่ 3 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 ตามญัตติเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช...

ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้

หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ปรากฎผลการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำการดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้

หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

ประเด็นที่ 4 หากกรณีเป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง จะถือเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือไม่

ปรากฎผลการลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า เมื่อกรณีไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้

หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้”

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยแล้วเสร็จ ปฏิกิริยาจากภาคส่วนต่างๆ ก็ทยอยกันออกมา ทั้งที่ชื่นชมยินดี ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่เป็นธรรม ประกอบไปด้วยหลักวิชา

เฉยๆ เป็นเพียงความพยายามในการซื้อเวลา ลดอุณหภูมิแห่งความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และมีทีท่าจะลุกลามใหญ่โต ให้พอทุเลาลงไปชั่วคราว

รวมถึงโจมตี ว่างานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวางเขี้ยว ลักไก่ อาศัยการวินิจฉัยครั้งนี้ ขยายอำนาจให้กว้างขวางยิ่งขึ้นจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และวางหลักใหม่ ว่าศาลสามารถรับคำร้องได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านเรื่องจากอัยการสูงสุด

สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น่าจะถือเป็นองค์กรวิชาการ องค์กรแรกๆ อีกเช่นเคย ที่ขยับเขยื้อน แสดงความคิดเห็นในทำนองหลังนี้ อย่างทันควัน ไม่ถึงชั่วโมง หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเสร็จ

ในนาม แถลงการณ์สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” เนื้อความขนาดไม่สั้นไม่ยาว ใกล้เคียงกับข่าวศาลรัฐธรรมนูญนั่นหละ ดังนี้

“ตามที่ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแถลงการณ์เรื่อง “มติและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2555

เรียกร้องให้ประธานรัฐสภา เพิกเฉยต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... วาระ 3 ให้แล้วเสร็จ

รวมถึงให้อัยการสูงสุด เร่งรัดการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง และปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความกระจ่างแจ้งให้กับผู้ร้องและสาธารณะชน โดยด่วน

ภายใต้หลักการอันเป็นสากลเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ที่ถือกันว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

การแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงให้กฎเกณฑ์ดังกล่าวเกิดความสมบูรณ์
และสะท้อนแนวทางในการอยู่ร่วมกันของประชาชน อย่างเป็นปัจจุบันมากที่สุด จึงนับเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีความจำเป็น ด้วยกระบวนการต่างๆ ได้แก่

1) การแก้ไขเพิ่มเติมฯ โดยฝ่ายนิติบัญญัติ 2) การแก้ไขเพิ่มเติมฯ โดยฝ่ายนิติบัญญัติแบบลงคะแนนเสียงพิเศษ 3) การแก้ไขเพิ่มเติมฯ โดยฝ่ายนิติบัญญัติแบบให้มีการลงประชามติ

4) การแก้ไขเพิ่มเติมฯ โดยประชาชนทั่วไป และ 5) การแก้ไขเพิ่มเติมฯ โดยการจัดตั้งองค์การพิเศษ

การดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... โดยฝ่ายนิติบัญญัติ วาระ 1 และวาระ 2 ที่ผ่านมา

จึงชอบด้วยกระบวนการอันเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่นเดียวกับวาระ 3 ที่รัฐสภายังคงดำเนินการไม่แล้วเสร็จ

การณ์นี้ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงขอเรียกร้องให้ ประธานรัฐสภา ตระหนักในหลักการดังกล่าว กล้าหาญที่จะตัดสินใจเพิกเฉยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

เพื่อยืนยันการปฏิเสธการวางบรรทัดฐาน ที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นเนื้องอกที่พร้อมจะกลายเป็นเนื้อร้าย ทำลายระบบการเมืองได้ทุกขณะ

เปิดโอกาสให้ตุลาการ ทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ ก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ขยายขอบเขตอำนาจของตน ครอบงำอำนาจอื่นๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

ทั้งนี้ เนื่องด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็น “สัญญาประชาคม” ที่พรรคเพื่อไทย กระทำไว้กับประชาชน ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้เข้ามาทำหน้าที่ ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

การที่ประธานรัฐสภา ยอมจำนนให้กับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญครั้งก่อน จนเป็นเหตุให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช... วาระ 3 เนิ่นช้าออกมา

บานปลายจนกระทั่ง ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้

นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จึงต้องแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการยืนยัน

เดินหน้ากระบวนการการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ครบทั้งฉบับ ให้แล้วเสร็จโดยด่วน ตามที่ได้กระทำสัญญาประชาคม ไว้กับพี่น้องประชาชน”

คำตอบของคำถามที่ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ระหว่าง ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และประชาชน... ใครได้ ใครเสีย ใครแพ้ ใครชนะ...

หลายท่านอาจมีคำตอบที่แตกต่างกันไป แต่หากจะพิจารณากันจากวิธีคิดของ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาแล้วหละก็ คงสรุปได้ไม่ยาก ว่างานนี้ เข้าข่าย “วิน-วิน”

ศาลรัฐธรรมนูญ ได้หลัก สถาปนาอำนาจของตนเป็นที่เรียบร้อย คิดอยากจะไล่บี้รัฐสภา หรือใครหน้าไหนเมื่อไหร่ ก็ย่อมทำได้ เพราะหลักการผ่านแล้ว

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ กับการพิจารณาเรื่องในที่ประชุม ครม. เมื่อผ่านในชั้นอนุมัติหลักการแล้ว รายละเอียดจะจัดซื้อจัดจ้างกันอย่างไร หน่วยงานก็สามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องเอาเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. อีก

เรียกว่างานนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็นับเป็น “ยากูซ่า” ถ้าอยู่ในซอย ก็นับเป็น “จิ๊กโก๋” วางก้ามเบ่งบารีใหญ่โตกันทีเดียวหละครับ

ส่วนรัฐสภา ซึ่งว่ากันตามจริง งานนี้ก็คือ ฝากฝั่งรัฐบาล หรือจะให้ตรงยิ่งขึ้น ก็คือพรรคเพื่อไทยเขานั่นหละ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ ข้อที่เสียก็มีอยู่บ้าง แต่ข้อที่ได้นั้น ก็ไม่น้อย

ประการแรก ศาลก็ไม่ได้ห้ามเสียทีเดียว ว่าไม่ให้แก้ นอกจากจะไม่ต้องเสียหน้ากับมวลชนแล้ว ยังป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น จนบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ทำให้ตนต้องหลุดออกจากอำนาจ

ซ้ำการที่ศาลมีคำวิจฉัยเช่นนี้ ก็จะกลายไปเป็นข้ออ้าง ที่พรรคเพื่อไทย สามารถนำไปหาเสียงกับมวลชน เพื่อให้การสนับสนุนตน ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ฉบับนี้ ได้ต่อไป

ส่วนประชาชนหนะหรอครับ อย่างที่กระผมบอกไปนั่นแหละ งานนี้ “วิน-วิน” แปลว่ามีผู้ชนะแค่ 2 ฝ่าย ไม่ใช่ “วิน-วิน-วิน” จึงไม่มีพื้นที่ให้กับฝ่ายที่ 3... นึกถึงเนื้อเพลงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ ขึ้นมาจับใจจริงๆ ครับ

“ไปโดนเขาหลอก อีกแล้ว น้องแก้ว ไม่เข็ด ก่อนเคย ช้ำใจ อยากได้เพชร ต้องมา โศกา น้ำตาเล็ด นึกว่าเข็ด ก็ยัง...”
ฮาาาาาาาาา... (หัวเราะทั้งน้ำตา) !!!

--------------------------------------

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2555 หน้า 6
16 ก.ค. 55 / 22:00
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
view 1826 : discuss 6 : rating - : bookmarked 0 : vote 0 27.130.184.99

#1# - 673420 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] ไม่จริงครับ ชัยชนะของพ่อค้าหุ้นต่างหาก พอประกาศปั๊ปหุ้นขึ้นเลย ฮ่า ๆ ๆ
16 ก.ค. 55 / 22:33
0 0
armeng [icon smile : 92 bytes] (7588) : n/a : n/a : n/a
followup id 673420 58.9.174.115

#2# - 673421 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] #1#

อันนี้จริง... 555 !!!
17 ก.ค. 55 / 08:13
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
followup id 673421 223.24.1.16

#3# - 673424 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] น่าจะเป็นอัยการสูงสุดกับอาจารย์จรัญครับ

ชนะบาย แบบไม่ต้องออกแรง
18 ก.ค. 55 / 08:31
0 0
ธนเทพ [icon smile : 92 bytes] (4055) : n/a : n/a : n/a
followup id 673424 110.168.213.174

#4# - 673432 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] ชัยชนะของคอลัมนิสนัก วิเคราะห์หุ้น,การเมือง นักข่าว อร่อยค่าบทความทั้งสัปดาห์
20 ก.ค. 55 / 15:48
0 0
submission [icon smile : 92 bytes] (5409) : n/a : n/a : n/a
followup id 673432 180.183.11.133

#5# - 673433 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] #4#

555... ว่างั้นหละครับ แย่สักหน่อยก็ที่ ผมดันเขียนฟรีนี่สิ...
20 ก.ค. 55 / 18:53
0 0
finn [icon smile : 92 bytes] (3370) : [ protect email from spamware ]
followup id 673433 158.108.233.172

#6# - 673444 [icon-addtodelete : 101 bytes]
[member icon] วันหลังติดต่อ พงษ์พิพัฒน์ จินดาศรี ณ เดลินิวส์ครับ บอกรุ่นน้องสวนฯอยากลงเนื้อหา จัดไป
23 ก.ค. 55 / 09:02
0 0
armeng [icon smile : 92 bytes] (7588) : n/a : n/a : n/a
followup id 673444 58.137.14.42


กระทู้นี้ต้องล็อกอินก่อนแสดงความคิดเห็นครับ

[icon login : 178 bytes]